ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
10เหตุผลเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจี้'บิ๊กตู่'ยกเลิกเขตอุตสาหกรรม ซัดศอ.บต.เล่นผิดบทเป็นผู้รับใช้กลุ่นทุน
05 ก.ค. 2563

กลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ยื่นหนังสือของเครือข่ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กรณีให้ยกเลิก มติคณะรัฐมนตรีในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งสองครั้งนั้น พวกข้าพเจ้าใช้โอกาสนี้แสดงเหตุผลและขอย้ำข้อเสนอที่ได้ยื่นไปแล้ว เพื่อให้นายกรัฐมนตรีประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมอีกครั้ง ก่อนจะให้คำตอบพวกเราในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงโดยมี 10 เหตุผล ที่ต้องยกเลิก มติ ครม. นิคมอุตสาหกรรมณจะนะ และหยุดเวทีพิธีกรรมหนุนโครงการของ ศอ.บต. ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ ที่อำเภอจะนะ ประกอบด้วย 

1.โครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น เพราะใช้วิธีอนุมัติโครงการโดยคณะรัฐมนตรีก่อน แล้วจึงมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภายหลัง  2.ในการอนุมัติโครงการโดยรัฐบาล คณะรัฐมนตรีไม่มีข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงอันเป็นความเห็นของประชาชนประกอบอย่างรอบด้านเพื่อตัดสินใจตั้งแต่ต้น 3. การอนุมัติโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ถือว่ามีที่มาอันไม่สวยงาม เพราะเป็นการอนุมัติแบบทิ้งทวนในปลายรัฐบาลยุค คสช.ในการประชุม ครม.นัดสุดท้าย ทั้งที่กำลังจะมีการตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 4. แม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นตามหลัง แต่กลับพบว่าเวทีเหล่านั้นคือ “พิธีกรรม” ที่จัดขึ้นเพื่อต้องการรายชื่อสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลเท่านั้น อันจะได้นำไปอธิบายกับสังคมว่าได้สร้างการมีส่วนร่วมแล้ว

5. ศอ.บต.ไม่ได้สร้างกลไกอันเป็นที่ยอมรับ และมีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการดำเนินงานของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตามความหมายของกฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชน 2548 หากแต่ได้ใช้พวกพ้องของเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.เป็นผู้รับงานจัดเวทีเหล่านั้น เสมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน 6. โครงการใหญ่ระดับประเทศ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่กลับปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนในพื้นที่ที่เห็นต่าง และจำกัดขอบเขตการรับรู้โครงการเฉพาะ 3 ตำบลอันเป็นที่ตั้งโครงการเท่านั้น ซึ่งควรจะต้องเปิดการรับฟังประชาชนทั้งจังหวัดเป็นอย่างน้อย 7. การจัดเวทีวันที่ 11 ก.ค. 2563 นั้น ไม่มีความชัดเจนว่าจัดขึ้นด้วยเหตุผลใด และอยู่ในขั้นตอนใดของกระบวนการดำเนินงานโครงการ เพียงแต่แจ้งว่าต้องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน 3 ตำบล หากแท้จริงแล้วต้องการใช้เวทีนี้เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงเท่านั้น

 8. ศอ.บต. กำลังเล่นผิดบท โดยการทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าของบริษัทหรือกลุ่มทุนที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมฯเสียเอง จึงทำหน้าที่แทนกลุ่มทุนทุกอย่าง ทั้งตอบคำถาม อธิบายแบบขัางๆคูๆ อย่างไม่มีความเข้าใจจริง อันไม่ใช่บทบาทของตนเอง จนบางคนได้นิยามบทบาทเช่นนี้ว่า “ผู้รับใช้” กลุ่มทุน 9. เราต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเฉพาะกลุ่ม จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ศอ.บต. ถึงยอมทุ่มทุนถึงขนาดนี้ 10. ศอ.บต.ได้กลายเป็นผู้สร้างความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียเองแล้วจากโครงการนี้ โดยการยุยง ส่งเสริม ปลุกปั่น ประชาชนที่เห็นดีเห็นงามกับตนในทุกรูปแบบ เพื่อจะยับยั้ง ปิดกั้น และทำลายความน่าเชื่อถือของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ จนทำให้มีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนขึ้น และได้สร้างการสื่อสารที่จะนำไปสู่ความแตกแยก อันจะกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าผิดวิสัยของความเป็น ศอ.บต. อันเป็นองค์กรรัฐที่ควรทำหน้าที่สร้างความสมานฉันท์ และจัดการความขัดแย้งให้ลดน้อยลงหรือหมดหายไป

ข้อสังเกตเหล่านี้คือบางส่วนของเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกระบวนการดำเนินโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” นี้ใหม่ทั้งหมด และหากจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้คือ 1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติโครงการนี้ไปแล้วทั้ง 2 ครั้ง คือ มติ ครม.7 พ.ค. 62 และมติ ครม. 21 ม.ค. 63 และให้หยุดกระบวนการทั้งหมดในทันที 2. ต้องสร้างระบบ และกลไกดำเนินการใหม่ทั้งหมด ในรูปของคณะกรรมการให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน อย่างเช่นการกำหนดองค์ประกอบของกลไกให้ครอบคลุมครบถ้วน และต้องมีความเป็นมืออาชีพ เป็นกลาง ซึ่งจะต้องมีสัดส่วนของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆในชายแดนใต้ ภาคประชาสังคมที่หลากหลายมีบทบาทนำทางสังคมอันเป็นที่ยอมรับ  ผู้แทนท้องที่ท้องถิ่นที่ไม่เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ในโครงการนี้ ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ตามสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่ง ศอ.บต. ต้องเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนการทำงานเท่านั้น

3. ให้คณะทำงานตามขัอ 2 ทำการศึกษาศักยภาพอำเภอจะนะ ในทุกมิติ เช่น ด้านสังคม วิถีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เพื่อให้เห็นต้นทุนที่มีอยู่ อันจะนำไปสู่การออกแบบพัฒนาที่สอดคล้องเหมาะสม และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง 4. ต้องยุติเวทีวันที่ 11 ก.ค. 63 ออกไปก่อน เพื่อให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ 1- 3 เสียก่อน

ทั้งนี้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จะเดินทางไปขอคำตอบจากรัฐบาล ในเช้าวันที่ 8 กรกฏาคม 2563 นี้ ตามที่ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงค์ไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2563  ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...