นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ประเทศไทยต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจเร่งด่วนหลังยุคโควิด-19 “พลังงานสร้างไทย” จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมเติมเต็มให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างชุมชนเข็มแข็งหมุนเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาพลังงานทดแทน และส่งเสริมนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงาน ซึ่งทำให้เกิดการสร้างงาน เพิ่มเงิน กระตุ้นการลงทุนในมิติด้านพลังงาน แผนที่เราได้เตรียมไว้ก็ได้ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้วครับ
พูดแล้วต้องทำทันทีครับ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้ และวิกฤตครั้งนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพของประเทศไทย ศักยภาพของคนไทย ที่จะฟื้นคืนประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ผมเดินหน้าเต็มตัว ใช้มิติพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการทำงานแบบ New Normal จากกระทรวงพลังงาน จะมีแผนอะไรบ้าง มาติดตามกันครับ
1. แผนเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม การสร้างศูนย์กลางค้าขาย LNG
ในภูมิภาค การสร้างท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติเหลว และการพัฒนาและปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ฯลฯ รวมๆ แล้ว ในปี 63 นี้ เป็นเม็ดเงินการลงทุนกว่า 200,000
ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 10,000 ราย
2. แผนพลังงานสร้างชุมชนเข้มแข็ง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยหน่วยงานในกำกับของกระทรวงพลังงานจะเข้าไปส่งเสริมตลาดออนไลน์สินค้ารอบโรงไฟฟ้า มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเขื่อนทั่วประเทศ เกิดการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน การลดต้นทุนแก่การเกษตร รวมถึงการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำโซลาร์ ฯลฯ รวมกันเป็นกระตุ้นการลงทุนเกือบ 3,700 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 1,000 ราย
3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทน เสริมความมั่นคงด้านพลังงานและเข้าถึงพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน การทบทวนมาตรการส่งเสริมโซลาร์ภาคประชาชน และการเดินหน้า Blockchain ปาล์ม ฯลฯ รวมๆ แล้วจะเกิดการลงทุนและเกิดรายได้ ระหว่างปี 63 – 64 กว่า 30,000 ล้านบาท และยังเกิดการจ้างงานมากกว่า 8,000 ราย
4. ส่งเสริมและระดมทุนผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงาน ด้วยการเพิ่มมูลค่าและรายได้แก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย การสร้างนวัตกรรมด้านไฟฟ้า และการพัฒนาระบบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ฯลฯ ซึ่งในระหว่างปี 63 – 64 จะสร้างมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 470 ล้านบาท