รัฐบาลประกาศให้ตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทุกจังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่ 3 ภารกิจหลัก คือบริหารจัดการ เช่น ทำแผนเผชิญเหตุ ติดตามสถานการณ์ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ด้านการข่าว เสาะหาข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย และด้านการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะดำเนินการตามพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยขณะนี้หลายจังหวัดได้เริ่มจัดตั้งและเปิดศูนย์รักษาความสงบแล้ว ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคใต้ เช่นที่จังหวัดปัตตานี
ขณะที่นายณรงค์ อ่อนสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้เป็นเปิดศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 พร้อมมอบนโยบายและปล่อยแถวกำลังพลฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมขบวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อออกปฏิบัติการตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย สนับสนุนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ผู้ว่าฯลำพูน กล่าวด้วยว่า การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีทั้งกลุ่มมวลชนที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน จึงอาจส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย หรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นการขัดขวางการออกเสียง จึงได้กำหนดบทบาทสนับสนุนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญดูแลความสงบเรียบร้อย การวางตัวเป็นกลาง และการบังคับใช้กฎหมายในระหว่างการจัดทำประชามติ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของประชาชน ทั้งช่วงก่อนวันออกเสียงประชามติ วันออกเสียงประชามติ และหลังวันออกเสียงประชามติ
ด้านว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ปลัดจังหวัดลำพูน กล่าวว่า องค์ประกอบของศูนย์ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ มี 3 ภารกิจหลัก คือบริหารจัดการ ทำแผนเผชิญเหตุติดตามสถานการณ์ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เสาะหาข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประชามติ หรือ เหตุความไม่สงบเรียบร้อย แก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุที่จะนำไปสู่ความไม่สงบ