ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วม สมัยวิสามัญ ผ่านการประชุมวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง อีก 3 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อร่วมกันทบทวน ปรึกษาหารือร่างรายงานทบทวนทางด้านเทคนิค (Technical Review Report) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมถึงพิจารณาและเห็นชอบร่างถ้อยแถลง (Statement) และร่างแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายการจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขง เพื่อหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนของการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศแม่น้ำโขง รวมถึงการส่งเสริมโอกาสในการแบ่งปันประโยชน์การพัฒนาของประเทศสมาชิกทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย
ในการประชุมดังกล่าว ฝ่ายไทยได้เสนอท่าทีในการร้องขอให้ สปป.ลาวดำเนินการในการแก้ไข และบรรเทาปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนใน 8 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงอุทกวิทยา ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของระดับน้ำต่อประเทศปลายน้ำก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตการประมงการท่องเที่ยวการเกษตรริมตลิ่งภัยแล้งอุทกภัย 2. การลดลงของตะกอนและสารอาหาร ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำ ซึ่งอาจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร 3. การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ อาทิ ปรากฏการณ์น้ำสีน้ำเงิน – เขียว ที่ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 4. การออกแบบทางผ่านปลา เพื่อรองรับการย้ายถิ่นของปลาตามฤดูกาลต้นน้ำและปลายน้ำ ป้องกันภัยคุกคามสำคัญต่อการประมงและความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาค 5. การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมต่อประเทศปลายน้ำ โดยมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและแผนการปรับตัวต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 6. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูล เพื่อสร้างการติดตามผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาระหว่างการก่อสร้างและการดำเนินการของเขื่อน รวมถึงระบบการสื่อสาร แผนเตรียมพร้อมฉุกเฉิน (EPP) เพื่อสื่อสารกับประเทศปลายน้ำเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมอย่างมีประสิทธิภาพ 7. การเยียวยาและบรรเทา โดยเสนอต่อสปป. ลาวและผู้พัฒนา กำหนด มาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านเศรษฐกิจสังคมการดำรงชีวิตและ สภาพแวดล้อมตามมาตรา 7 การป้องกันและการหยุดผลกระทบที่เป็นอันตรายและ 8 ความรับผิดชอบของรัฐสำหรับความเสียหายของข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน การพัฒนาลุ่มน้ำโขง ( 5 เมษายน 2538) โดยถอดบทเรียนที่ได้รับจากโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี
“จากการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในร่างรายงานทบทวนทางด้านเทคนิค และแถลงการณ์ร่วมของคณะกรรมการ จะถูกหยิบยกนำมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อพิจารณา และดำเนินการเพื่อประโยชน์ของระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำโขงตอนล่างระบบและคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการมีมาตรการเยียวยาผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรม” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงกรอบเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินงานกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของเขื่อนสานะคาม หรือโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 6 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง ของ สปป.ลาว ต่อจากโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่ต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งแม้ว่าจะกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการของกระบวนการฯ ไว้ 6 เดือน แต่เนื่องจากปัจจัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบที่เป็นเหตุให้ต้องขยายระยะเวลาการจัดทำเวทีสร้างการรับรู้ ความเข้าใจต่อโครงการ ซึ่งจำเป็นต้องกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนของสมาชิกลุ่มน้ำโขง และการหารือในเวทีระหว่างประเทศสมาชิกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)