พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-12 ทั่วประเทศ และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลรับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 เชิงรุกในโรงเรียน วัด ชุมชนแออัดและกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะให้ประเทศชาติมั่นคง และประชาชนมีความสุข ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด และทรงห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จัดทำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย
ซึ่งอุปกรณ์ภายในรถมีประสิทธิภาพในการตรวจโรค และมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อระดับ 1000 ประกอบด้วย ระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอกเพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอดมือผ่านหน้าต่างและถุงมือยางที่ติดตั้งไว้ มีระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถ หลังปฏิบัติงานรายวันด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ได้ทดลองให้บริการไปแล้วครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 12,094 ราย ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมีความปลอดภัยได้อย่างดียิ่ง