เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว 8.1% นั้น ทีดีอาร์ไอประเมินว่าจะทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งระบบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.78-3.26 ล้านคนในปีนี้ จากปกติที่คาดว่าจะมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ย 3.61 แสนคน
“ผมประเมินจำนวนผู้ว่างงาน โดยอ้างอิงจากฐานการประมาณการทางเศรษฐกิจในปี 63 ซึ่งพบว่าในกรณีปานกลางจะมีคนตกงาน 2.8 ล้านคน และในกรณีสูงจะมีคนตกงาน 3.3 ล้านคน ซึ่งตัวเลขตรงนี้ต่างจากของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ประเมินจากสมาชิกว่าจะมีคนตกงานสูงถึง 8-9 ล้านคนพอสมควร เพราะนั่นเป็นการประเมินจากตัวเลขคนที่ต้องหยุดงานตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่คนเหล่านี้ยังไม่ได้หลุดจากระบบการทำงาน” ดร.ยงยุทธกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า แม้ว่าในปีนี้จำนวนผู้ว่างงานจะไม่ได้สูงถึง 8-9 ล้านคน แต่ต้องยอมรับว่า ในกรณีที่ชั่วโมงการทำงานของแรงงานลดลงไปมาก เห็นได้จากจำนวนผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และแรงงานบางส่วนต้องทำงานต่ำกว่าระดับ หรือทำงานได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพ ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้มีรายได้ลดลงมาก
ดร.ยงยุทธ ยังประเมินว่า สถานการณ์การจ้างงานของประเทศไทยจะกลับสู่ภาวะปกติอาจต้องรอไปพ้นปี 65 ไปแล้ว และไม่ได้หมายว่าทุกคนจะกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะในสถานประกอบการขนาดใหญ่ เนื่องจากองค์กรเหล่านี้จะการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคนมากขึ้น และทำให้แรงงานบางส่วนจะไม่ได้กลับเข้าไปทำงานตามเดิม
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ดร.ยงยุทธ และน.ส.เกศินี ธารีสังข์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ร่วมกันจัดทำรายงานผลศึกษาเรื่อง ‘ผลกระทบโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย : ข้อมูลเชิงประจักษ์’ ซึ่งระบุตอนหนึ่งว่า หากปัญหาการระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ไปจนสิ้นปี 2563 มีการผ่อนคลายให้เปิดได้ครบทุกประเภทกิจการ
จะส่งผลดีต่อ Real GDP Growth ในแต่ละไตรมาสของปี 64-65 หดตัวเพียง 2% และ 0.1% ตามลำดับ และจะมีผลให้มีผู้ว่างงานจะลดลง ซึ่งกรณีปานกลาง พบว่าในปี 64 จะมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 2.771 ล้านคนและปี 65 จะมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 2.772 ล้านคน และในกรณีสูง พบว่า ในปี 64 จะมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3.252 ล้านคน และปี 65 จะมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3.253 ล้านคน
รายงานการศึกษาระบุด้วยว่า จากผลการศึกษาปัญหาการว่างงานในประเทศไทยเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า อัตราการว่างงานสูงกว่าปีก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ถึง 8-12 เท่าของการว่างงานตามปกติ ในเบื้องต้นจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ดังนี้
1.พัฒนาระบบข้อมูล online ในการตรวจสอบว่ามีคนว่างงานอยู่ที่ใดและประสงค์จะทำงานอาชีพหรือตำแหน่งงานอะไร โดยสามารถให้ผู้สมัครงานเข้าถึงได้จาก Smart Phone และ/หรือตัวแทนของภาครัฐในระดับท้องถิ่นได้ทั่วประเทศ
2.เมื่อสถานประกอบการเริ่มเปิดกิจการอาจจะมีแรงงานส่วนหนึ่งที่อาจจะถูกเลิกจ้างอย่างถาวร หน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ควรทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหางานใหม่ให้ทำได้โดยเร็วที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว สภาเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการสร้างงาน
3.รัฐควรจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้ผู้ว่างงานได้มีแหล่งรายได้เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวตามอัตภาพทันที หลังจากที่งบประมาณเยียวยาสิ้นสุดลงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างรองานหรือหางานใหม่
4.พัฒนาส่งเสริมให้ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการทั้ง SMEs Microenterprises และอาชีพอิสระอื่นๆให้ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านความรู้และทักษะในการประกอบกิจการ (coaching and incubation) และการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนในการเสริมสร้างอาชีพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย
5.เน้นการพัฒนาการเกษตรให้เป็นแหล่งจ้างงานและเป็นแหล่งอาหารสำหรับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ และเน้นหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคอีสาน