กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ในสังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “การออกแบบข้อมูลสำหรับผู้บริหาร” เพิ่มความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลในเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการจัดฝึกอบรมหัวข้อ “การออกแบบข้อมูลสำหรับผู้บริหาร (Data Design for Executives)” ณ ห้องประชุม จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการวิทยาศาสตร์ข้อมูล เกี่ยวกับแนวทางและวิธีในการบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลด้านการแรงงาน รวมทั้งได้ทดลองออกแบบโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการแรงงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานของทุกหน่วยงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในยุค “ความปกติใหม่” (New Normal)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ อาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ทั้งสองหน่วยงานได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรของกระทรวงแรงงานทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารรดับสูง ผู้อำนวยการกอง (รวมถึงอัครราชทูตที่ปรึกษา) และผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีความเข้าใจถึงแนวทาง วิธีการในการบูรณาการ และจัดระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวง อันเป็นการวางรากฐานการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจแรงงานในอนาคต
สำหรับการจัดการฝึกอบรมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อการกำหนดกลยุทธ์เชิงข้อมูล (Data Strategy Formulation) ซึ่งต่อเนื่องจากกิจกรรมการสัมมนาผู้บริหารระดับสูง และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยผู้ฝึกอบรมเป็นผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงแรงงานสังกัดส่วนกลางจากทุกกรม มีระยะเวลาการฝึกอบรมจำนวน 24 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 8 ครั้ง ๆ ละ 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 8 วัน แบบไม่ต่อเนื่อง และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) หรือผู้แทนจากสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยใช้สอนสดผ่านระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรมการประชุมระบบทางไกล จำนวน 9 ชั่วโมง
โดยมีโจทย์ที่เป็นกรอบการวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับภารกิจของทุกหน่วยงาน ได้แก่ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานภายหลังการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศทั้งที่ถูกและไม่ถูกกฎหมาย การจัดเก็บข้อมูลแรงงานไทยที่กลับจากการทำงานในต่างประเทศ Transfer Occupation, Up-Skill, Re-Skill การพยากรณ์การปิดกิจการของสถานประกอบการ และการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ประกันสังคมเพื่อปรับปรุงการให้บริการให้ตรงตามความต้องการ และส่งเสริมให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และสามารถตัดสินใจจากการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ สามารถชี้ประเด็นในการนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงสามารถเสนอแนะแนวทางการกำหนดนโยบายเชิงข้อมูลทั้งต่อผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปและผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นระดับผู้ปฏิบัติ