ก.แรงงาน ร่วม GIZ ผลิตช่างเครื่องปรับอากาศ พร้อมจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอีก 3 จังหวัด ระยอง สุพรรณบุรีและลำปาง เติมความรู้ใช้สารทำความเย็นอย่างปลอดภัย เติมหัวใจรักษาสิ่งแวดล้อม
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) เมื่อปี 2562 เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ให้มีความรู้ความสามารถทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ตลอดจนเพื่อให้ความรู้แก่ช่างเครื่องปรับอากาศในการใช้สารทำความเย็น R 290 ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น (Refrigeration and Air Conditioning Nationally Appropriate Mitigation Action :RAC NAMA)
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในปี 2563 กพร.ได้จัดอบรมให้ความรู้ เรื่องการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย (ระยะเวลา 3 วัน) ให้แก่ครูฝึกและช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 – 3 กรกฎาคม 2563 จำนวน 16 คน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง มีกำหนดจัดอบรมให้แก่ครูฝึกและช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2563 – 2 พฤศจิกายน 2563 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี และฝึกอบรมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง ระหว่างวันที่ 14 - 16 มกราคม 2563 ซึ่งทั้ง 3 แห่งจะจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรม โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์ฝึกอบรมตามโครงการ RAC NAMA เพื่อฝึกอบรมขยายผลให้แก่ช่างเครื่องปรับอากาศในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป
นายปัญญ์ ปิยะศิลป์ ผู้จัดการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ของ GIZ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ กพร. เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของโครงการ RAC NAMA ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในสาขาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ให้มีความชำนาญและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ถูกต้องและปลอดภัย ช่างแอร์จึงต้องพัฒนาความรู้เพิ่มเติม เช่น ความรู้เรื่องความดันในการเติมสารทำความเย็น เนื่องจากชนิดสารทำความเย็นที่เปลี่ยนไป ความดันที่ใช้ในระบบทำความเย็นก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งสารทำความเย็น R 290 เป็นน้ำยาแอร์ชนิดใหม่ เป็นสารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job) และสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25
“เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลกและแนวโน้มการใช้เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอากาศร้อนขึ้นทุกปี การเลือกใช้สารทำความเย็นที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงเป็นอีกทางเลือกและหันมาให้ความรู้แก่ช่างซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ ให้สามารถใช้งานสารทำความเย็นธรรมชาตินี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และในอนาคตช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก จะเป็นอีกอาชีพที่ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถแล้วเท่านั้น” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย