บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกับ กฟผ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน พร้อมให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ไปจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวประชาชนในพื้นที่
วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.30 น. ณ หอประชุม 50 ปี โรงเรียนน้ำพองศึกษา อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นนายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในการนำเสนอร่างรายงานผลการศึกษาและการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน โดยมี นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน การประชุมครั้งนี้มีประชาชนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างเนืองแน่น และจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกเวที ตามมาตรการป้องกันการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภออุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนจะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่ต้องปลดออกจากระบบ ซึ่งโรงไฟฟ้าใหม่จะยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพองเดิมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าของเดิม โดยรู้สึกยินดีที่ กฟผ.ได้ให้ความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียและชาวขอนแก่นมาโดยตลอด ขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ช่วยกันสะท้อนความคิดเห็นในทุกๆ ด้านอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงเล่มรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนของเรามากที่สุด
ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพองปัจจุบัน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้า ก่อสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1 - 2 ในปัจจุบัน ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบในปี 2568 เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขาดหายไป และรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP2018) อีกทั้งโครงการฯ จะช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับท้องถิ่นโดยผ่านภาษีและรายได้บำรุงท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานในท้องถิ่น ตลอดจนได้รับงบประมาณในการพัฒนาชุมชนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอีกด้วย
นางดุษฎี วรรณสุทธิ อายุ 63 ปี ราษฎรในพื้นที่ ตำบลกุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรงไฟฟ้าน้ำพองได้ให้ความสำคัญกับชุมชนอย่างยิ่งในการที่จะร่วมพัฒนาชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าโดยได้จัดฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้พบปะกับประชาชนในที่พื้นโดยรอบโรงไฟฟ้า เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันพร้อมกับได้มีจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โดยการส่งเสริมการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ ขณะเดียวกันชุมชนโดยรอบมีความสงสัยและข้อกังวลประการใดก็ตาม ทางส่วนโรงไฟฟ้าจะได้ให้เจ้าหน้าที่ลงมารับฟังรับทราบในข้อสงสัยนั้นๆ และที่สำคัญทางโรงไฟฟ้ายังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมในพื้นที่โรงงาน ไฟฟ้าโดยส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกกังวลเพื่อทางโรงไฟฟ้าน้ำพองเป็นมิตรกับชุมชนและสังคมโดยรอบ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างรายงานฉบับนี้ได้จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ที่
คุณจีรภัทร ประเสริฐสุวรรณ มือถือ 091-4359154 โทรศัพท์ 0-2934-3233-47 ต่อ 513 โทรสาร 0-2934-3248 หรือ บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เลขที่ 39 ซ.ลาดพร้าว 124 ถ.ลาดพร้าว แขวงพลับพลาชัย เขตวังทองหลาง กทม. 10310 หรือ เว็บไซต์ www.cot.co.th