ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ตัวอย่างการกระทำผิดที่ศาลฯ วินิจฉัยต่างกัน
16 ก.ค. 2563

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

 

ตัวอย่างการกระทำผิดที่ศาลฯ วินิจฉัยต่างกัน

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ก่อนที่จะว่าถึงเรื่องกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. ช่วงเดือนสองเดือนมานี้ปรากฎข่าวศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งหนึ่งพ้นผิดจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ซึ่งก่อนหน้านั้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ได้เคยพิพากษาจำคุกอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกับพวกไปก่อนแล้วเมื่อปี 2561 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า แล้วการวินิจฉัยของศาลอาญาคดีทุจริตฯ กับศาลปกครองสูงสุดไฉนจึงต่างกัน งั้นตอนนี้ขอเล่าเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านทราบย่อๆ ก่อนนะครับ

เดิมมีการกล่าวหาร้องเรียนอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางพร้อมพวก 14 ราย ในคดีละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ในเขตอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่ง ป.ป.ช.รับพิจารณาดำเนินการ ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน เมื่อต้นปี 2551 ได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง (กองทุนพัฒนาชุมชนฯ) โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารฯ 19 คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการบริหารฯ และนายอำเภอแม่เมาะเป็นกรรมการและเหรัญญิก

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาชุมชนฯ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2551 และวันที่ 29 เม.ย. 2551 ที่ประชุมได้อนุมัติโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง ที่อยู่ในเขต อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งในฐานะประธานคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้เสนอโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาชุมชนฯ วงเงินแต่ละแห่ง 21 ล้านเศษขึ้นไปถึง 35ล้านเศษ ในช่วงวันที่ 25 มี.ค. 2551 ถึงวันที่ 22 ต.ค. 2551 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ได้พิจารณาอนุมัติเงินกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 โครงการ แต่ปรากฎว่า พื้นที่ที่ก่อสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นายอำเภอกับพวกร่วมกันจัดเตรียมสัญญาจ้าง ต่อมาผู้รับจ้างได้เข้าไปก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยที่กรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปบุกรุกแผ้วถางทำลายพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2485 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

จนการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปลัดอำเภอ ผู้ปกครองท้องที่หลายคนร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ไปตรวจรับการจ้างและเสนอขออนุมัติขอเบิกเงินค่าก่อสร้าง ผ่านอำเภอไปจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้ลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการยับยั้งสั่งการแก้ไขใดๆ ซึ่งในระหว่างการก่อสร้าง นายกอบต.ในพื้นที่ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง และเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับนายก อบต.ออกตรวจสภาพป่าในพื้นที่ขออนุญาตดังกล่าวตามคำสั่งของ จ.ลำปาง และได้ร่วมกันจัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพป่าที่มีผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (ป.ส.18) ว่า พื้นที่บริเวณที่ขออนุญาตเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. มีสภาพไม่สมบูรณ์ เห็นควรอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อกรมป่าไม้ทั้งที่มีการก่อสร้างไปแล้ว

ปรากฏว่าหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าในพื้นที่ 2 นาย ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างดังกล่าว อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย แต่ไม่ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามหน้าที่ ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบดีว่า สถานที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ เป็นการละเลยไม่ระงับยับยั้งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ทั้งยังละเว้นไม่จับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และทำการยึดของกลางที่พบตามอำนาจหน้าที่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ต่อมาปี 2557 ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้กับพวกรวม 14 คนทางอาญา ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ส่งพนักงานอัยการและส่งฟ้องศาลอาญาในเวลาต่อมา

ส่วนทางวินัย ป.ป.ช.ส่งให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ซึ่งทางวินัยกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งลงโทษ ไล่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสังกัดออกจากราชการ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกับพวกจึงไปยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพค.) แต่ กพค.ก็วินิจฉัยยืนตาม ป.ป.ช. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้จึงไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่ง โดยฟ้องทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ป.ป.ช.และ กพค. โดยอ้างว่า คำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้

(1) เพิกถอนคำสั่งมหาดไทย เรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ (2) ให้วินิจฉัยอำนาจไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพิกถอนมติ ที่ชี้มูลความผิด ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 (3) วินิจฉัยเพิกถอนคำวินิจฉัยกรณีมีคำสั่งให้คืนสิทธิตามกฎหมายแก่ผู้ฟ้องคดี เช่น เงินบำนาญเลี้ยงชีพ รวมทั้งให้เยียวยาความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและครอบครัว

ขณะเรื่องทางคดีปกครองยังไม่สิ้นสุด ทางคดีอาญาพนักงานอัยการส่งฟ้องศาลอาญาเมื่อเดือน ก.ค. 2561 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางท่านนี้กับพวกรวม 14 ราย ในคดีดังกล่าวแล้ว โดยไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ ในส่วนของอดีตผู้ว่าฯ และอดีตนายอำเภอแม่เมาะ ถูกตัดสินลงโทษคนละ 4 กรรมๆ ละ 4 ปี รวมจำนวน 16 ปี ส่วนจำเลยอื่นถูกตัดสินโทษลดหลั่นกันลงมา คงมีจำเลยคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าถึงแก่ความตาย ศาลอาญาฯ จึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ฝ่ายจำเลยทั้งหมดได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดี ตอนนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์

ครับ ศาลอาญาฯ วินิจฉัยในข้อเท็จจริงข้อกฎหมายอย่างไร จึงลงโทษทางอาญาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกับพวก และศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยกฟ้องโดยเหตุผลใดเรื่องนี้น่าสนใจนะครับที่ศาลมีมุมมองต่างกัน แม้คดีอาญาจะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม ก็อย่าลืมว่า การลงโทษทางอาญากับคดีปกครองไม่เหมือนกันนะครับ

แต่ท่านผู้อ่านที่เป็นข้าราชการหรือนักการเมืองก็ตาม อาจนำไปเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาได้ ศาลปกครองสูงสุดยกโดยเหตุผลใดติดตามเรื่องนี้ต่อตอนหน้านะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...