กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือเอกชนรายใหญ่ หาช่องสร้างรายได้ช่วง"โควิด 19" ให้สมาชิกสหกรณ์ ประเดิมทดลองปลูกข้าวโพดหวานพืชใช้น้ำน้อย 73 วัน สร้างรายได้เฉียดหมื่นบาทต่อไร่ เริ่มทดลองปลูกระยะแรก 350 ราย ระบุตลาดทั้งในและต่างประเทศยังต้องการอีกมาก
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของสมาชิกเกษตรกร กรมฯ จึงมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเพิ่มรายได้แก่สมาชิกสหกรณ์ในระยะสั้น เบื้องต้นจึงร่วมกับบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ในโครงการปลูกข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยทางบริษัทจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน 350 กิโลกรัม สำหรับแจกจ่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 350 ราย พื้นที่ 350 ไร่ ใน 32 จังหวัด ทดลองปลูกรายละไม่เกิน 1 ไร่ พร้อมทั้งบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปให้ความรู้ถึงวิธีการปลูกที่ถูกต้องและระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด หากสมาชิกสหกรณ์ชุดแรกที่ปลูกข้าวโพดแล้วมีรายได้ดี และต้องการทำเป็นอาชีพหลัก ทางกรมฯ จะขยายผลเพื่อดำเนินโครงการนี้ในระยะที่ 2 ต่อไป
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดสรรเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้เกษตรกรกู้ยืมรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท นำไปสร้างแหล่งน้ำในไร่นาเพื่อทำเกษตรในฤดูแล้ง ขณะนี้มีเกษตรกรขุดบ่อบาดาลและสระน้ำแล้วกว่า 19,000 ราย และบางรายได้ปรับเปลี่ยนจากทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชผสมผสาน ขณะที่เกษตรกรบางรายปลูกผักสวนครัวยังทำรายได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงมองหาพืชทางเลือกที่จะช่วยเกษตรกร เช่น ข้าวโพดหวาน ซึ่งมีตัวอย่างจากสหกรณ์ในจังหวัดบุรีรัมย์ได้เริ่มทำกันเอง และทำให้สมาชิกมีรายได้เป็นเงินก้อน ก็เห็นว่าน่าจะให้เกษตรกรที่กู้เงินไปสร้างแหล่งน้ำนี้ ทดลองปลูกและจำหน่าย ซึ่งนอกจากข้าวโพดหวานแล้ว กรมฯ ได้มองพืชเศรษฐกิจตัวอื่นที่จะสร้างรายได้ทำนองเดียวกัน เช่น พริกซอส หรือพืชอื่นๆ ที่มีตลาดรองรับ”
เบื้องต้น จากการสำรวจมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 206 แห่ง สมาชิก 5,012 ราย พื้นที่ 5,943 ไร่ ใน 42 จังหวัด ซึ่งตัวแทนสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดอุทัยธานี พิจิตร และบุรีรัมย์ ได้เดินทางมารับมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานจากบริษัท แปซิฟิคฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้สมาชิกที่อยู่ในโครงการนำร่องทดลองปลูก การดำเนินโครงการระยะแรก ทางเอกชนจะเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและวางแผนการผลิตร่วมกับสหกรณ์ หากในอนาคตต้องการทำเป็นอาชีพหลัก กรมฯ จะหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวโพดหวาน เช่น บริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือบริษัทแปรรูปข้าวโพดหวาน เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน พร้อมทั้งสนับสนุนให้สหกรณ์เข้ามาช่วยรวบรวมผลผลิตของสมาชิกเพื่อเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในอนาคตต่อไป
ด้านนายยงค์ยุทธ ปานสูง กรรมการบริหารบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ยินดีร่วมมือ กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งข้าวโพดหวานถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่ตลาดต้องการมาก แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอเพราะวัตถุดิบในประเทศยังน้อย ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวโพดหวานเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่าการส่งออกปี 2562 ประมาณ 7 พันล้านบาท ซึ่งในช่วงโควิด-19 ระบาด พบว่า มียอดความต้องการซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ของยอดส่งออก แบ่งเป็นข้าวโพดกระป๋อง 5,600 ล้านบาท แช่เยือกแข็ง 800 ล้านบาท โดยการปลูกข้าวโพดหวานในประเทศไทยจะมี 2 แบบ คือ ปลูกเพื่อเป็นฝักสดบริโภคในประเทศและส่งออกประมาณ 40% และอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นข้าวโพดกระป๋องและแช่เยือกแข็ง 60% โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซียและสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรทดลองปลูกข้าวโพดหวานก่อนในระยะแรก ที่ผ่านมาเกษตรกรที่สนใจเข้าโครงการปลูกข้าวโพดหวาน ทางบริษัทฯ จะทำข้อตกลงเป็นเกษตรพันธะสัญญา กำหนดราคารับซื้อหน้าฟาร์มตามราคาที่ตกลงกัน แต่จะไม่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยข้าวโพดหวานจะมีระยะเวลาการปลูกจนเก็บเกี่ยวประมาณ 73 วัน ให้ผลผลิต 2-3 ไร่ สร้างกำไรเฉลี่ยไร่ละ 9,100 บาท/รอบการผลิต โดยราคา ณ ปัจจุบัน ที่หน้าฟาร์มรับซื้อที่ 6-8 บาทต่อกิโลกรัมขณะที่ต้นทุนการผลิตตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 3,500 บาท/ไร่