ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
ล้วง ‘ดอกผล’ กองทุนประกันสังคม อุ้มแรงงาน เสี่ยง 'ถังแตก' เร็วขึ้น-ได้ไม่คุ้มเสีย?
16 ก.ค. 2563

หลัง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ กระทรวงแรงงานจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในการนำ ‘เงินดอกผล’ ซึ่งกองทุนประกันสังคมได้มาจากการลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ออกมาใช้เพื่อรองรับมาตรการการช่วยเหลือแรงงานในระยะต่อไป

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล ยังบอกด้วยว่า การนำเงินดอกผลของกองทุนฯออกมาใช้ดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจาก ‘คณะกรรมการประกันสังคม’ และคณะกรรมการไตรภาคี (ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล) แล้วแม้ว่าหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นการ 'จุดพลุ' สร้างกระแส ก่อนที่เก้าอี้ รมว.แรงงาน จะเปลี่ยนไปเป็นของคนอื่น แต่ก็เป็น ‘โจทย์ใหญ่’ ที่รมว.แรงงานคนใหม่ ต้องนำไปขบคิดพิจารณาเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 พ.ย.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมครม.ให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) ศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมให้เกิดประโยชน์และสนองตอบความต้องการของผู้ประกันตน เช่น การกู้ยืมเพื่อลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ

แต่แล้วมีเสียง ‘คัดค้าน’ ว่า หากเงินที่กองทุนประกันสังคมนำไป ‘ปล่อยกู้’ นั้น มีความเสียหายเกิดขึ้น สุดท้ายอาจทำให้กองทุนฯ ‘ล่ม’ ได้ และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชย ‘กรณีชราภาพ’ ให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กติแล้วเงินดอกผลที่กองทุนประกันสังคมได้รับจากการลงทุน จะนำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน หรือสะสมไว้ในกองทุนฯ ซึ่งทำให้กองทุนฯมีเงินจ่ายชดเชยให้สมาชิกในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะกรณีชราภาพได้ยาวนานขึ้น จากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่ากองทุนฯจะไม่มีเงินเหลือภายในไม่เกิน 20 ปี

ดังนั้น การนำเงินดอกผลของกองทุนฯไปใช้ก่อนนั้น สิ่งที่ต้องแลกมา คือ แทนที่กองทุนฯจะมีเงินจ่ายให้สมาชิกได้ยาวออกไป ก็จะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดกองทุนฯ ซึ่งมีผู้แทนจาก 3 ฝ่าย ว่าจะนำเงินดอกผลส่วนมาใช้หรือไม่ และช่วยเหลือสมาชิกอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป

“เงินเก่าที่อยู่มา 18-19 ปี และดอกผลที่ได้มานั้น ต่อไปจะต้องจ่ายออกไปเพิ่มขึ้น เพราะคนจะทยอยเกษียณอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้กองทุนฯมีภาระหนัก แม้ว่าคนที่เกษียณฯจะได้บำนาญแค่ 2,000-3,000 บาท/เดือนก็ตาม ซึ่งทางจุฬาฯและทีดีอาร์ไอ เคยประเมินการณ์ว่า กองทุนจะไม่มีเงินเหลือจ่ายภายใน 20 ปี ในกรณีที่ไม่ทำอะไรเลย” ยงยุทธกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยงยุทธ เป็นห่วงว่า กรณีการลดเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างลง ในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าจะช่วยลดภาระให้ลูกจ้างและนายจ้างได้ แต่ก็ทำให้เงินไหลเข้ากองทุนน้อยลง ยิ่งหากวิกฤติเศรษฐกิจลากยาวไปถึง 65 และอาจมีความจำเป็นต้องลดเงินสมทบกองทุนฯเป็นเวลา 2-3 ปี อายุกองทุนก็จะลดลงเป็นปีเหมือนกัน

“ในอนาคตจำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องการส่งเงินสมทบ เพราะรัฐบาลจ่ายแค่ 2.75% ซึ่งถือว่าน้อยมา คำถาม คือฝ่ายรัฐบาลจะเพิ่มหรือไม่ มีงบพอหรือไม่ จะเพิ่มเงินสมทบส่วนของลูกจ้าง และนายจ้างอีกหรือไม่ โดยเฉพาะตัวนายจ้างเอง เขาก็ห่วง เพราะมีภาระนำเงินไปเติมกองทุนอื่นๆอีก เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ยงยุทธระบุ

ยงยุทธ ยังกล่าวว่า ในขณะที่การเพิ่มเงินสมทบทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล ยังคงเป็นคำถามว่าพร้อมหรือไม่ แต่สิ่งที่ทำได้สำนักงานประกันสังคมและกองทุนฯทำได้ด้วยตัวเอง คือ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้ยืดหยุ่น และจำเป็นต้องทบทวนนโยบายการลงทุนใหม่ ซึ่งจะทำให้กองทุนฯได้รับดอกผลเพิ่มขึ้น

“ถ้าเทียบกับ กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) เขาทำงานให้สมาชิกได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ของกองทุนประกันสังคมยังกล้าๆกลัวๆ ขนาดลงทุนนิดหน่อยยังได้ขนาดนี้ แต่ถ้ามีมืออาชีพเข้ามาบริหาร เงินจะงอกเงินมากกว่าที่เราสะสมไว้มาก” ยงยุทธกล่าว

ขณะที่ อรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ยืนยันว่า จนถึงวันนี้บอร์ดกองทุนประกันสังคมยังไม่เคยมีการอนุมัติให้นำ ‘เงินดอกผล’ ของกองทุนฯไปใช้เลย จึงไม่ทราบว่ารมว.แรงงาน จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ครม.เห็นชอบได้อย่างไร

“เรื่องเอาเงินดอกผลของกองทุนประกันสังคมไปใช้ ยังไม่เคยมีการเสนอให้บอร์ดฯพิจารณาเลย” อรุณีย้ำ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...