นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงกรณีที่กรีนพีซไทยแลนด์ออกมาระบุถึงราคาประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่ำสุด 3.2 หมื่นล้านนั้น สร้างความกังวลถึงประสิทธิภาพและการกำกับดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ระบุว่า การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษที่เข้มงวดของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ จะทำให้โครงการมีมูลค่าถึง 6.028 ล้านบาทนั้น รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ชี้แจงว่า ราคาประมูลต่ำสุดจากการเปิดซองประกวดราคา มาจากการประกวดราคาในระดับนานาชาติ (International Bidding) โดยเป็นเทคโนโลยีสะอาดที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว คือ ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) อุปกรณ์ดักจับฝุ่น (ESP) และระบบกำจัดสารปรอท (ACI) ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดทั้งของเอกชนในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน (ณ ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประมาณ $46 ต่อบาร์เรล)
ส่วนข้อมูลที่กรีนพีซอ้าง ระบุว่า องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA ) ประมาณการณ์ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ประเภท Ultra-supercritical ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจาก IEA (มีนาคม 2013) ประมาณการณ์ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ประเภท Ultra-supercritical อยู่ในช่วงระหว่างประมาณ 17,000 – 53,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 35 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นราคาที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว (โดยขณะนั้นราคาน้ำมันดิบมีราคาประมาณ $80 ต่อบาร์เรล) แต่การคำนวณของกรีนพีซยังได้นำ 6 หมื่นล้านบาท ที่ถูกอ้างถึง ได้มีการบวกรวมเพิ่มค่าอุปกรณ์ควบคุมมลสารต่างๆ ซ้ำอีกครั้ง โดยอ้างอิงราคาการติดตั้งเพิ่มเติมโรงไฟฟ้าเก่าของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 (NESCAUM 2011) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดใหม่ในปัจจุบันอยู่แล้ว