นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่มีสาระสำคัญเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ขยายความคุ้มครอง สร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 และจะมีผลบังคับใช้ 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 นี้เป็นต้นไปนั้น
ในทางปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการปรับปรุง และยกร่างกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) จำนวน 17 ฉบับเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างการประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนและลูกจ้าง มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมนี้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอออกกฎหมายลำดับรองแต่อย่างใด
สาระสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ขยายความคุ้มครอง ให้กับผู้ประกันตนและลูกจ้าง ได้แก่
- ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ ที่มีประมาณ 300,000 คน
- ขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
- ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละ 13,000 บาท
- ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 – 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาทต่อคน
- ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท
- ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี
- เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตาย
- ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือทุพพลภาพและถึงแก่ความตาย จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ ส่วนสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายไม่ถึงร้อยละ 50 ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน
-ให้ความคุ้มครองผู้จงใจทำให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย
- ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต
- การคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ให้คำนวณโดยคำนวณเงินสมทบสูงสุด 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือน ที่มีสิทธิมาร่วมกันเป็นฐานในการคำนวณแล้วหารด้วย 90 ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีค่าจ้างไม่ครบ 3 เดือน ในคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายวัน
รักษาราชการแทนเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) ยังได้ปรับปรุงกำหนดระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและโทษปรับกรณีนายจ้างชำระเงินสมทบล่าช้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดให้นายจ้างชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตัวอย่างเช่น เงินงวดเดือนตุลาคมต้องจ่ายเงินสมทบภายใน 15 พฤศจิกายน 2558 นี้ หากชำระเงินสมทบหลังวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 นายจ้างจะมีโทษปรับเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ค้างจ่าย โดยคำนวณค่าปรับเป็นรายวัน แต่เงินที่ปรับต้องไม่เกินจำนวนเงินทั้งหมดที่นายจ้างค้างจ่าย
และหากนายจ้างไม่นำส่งแบบแสดงรายการนำส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังกำหนดโทษกรณีที่ “นายจ้าง” ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ลูกจ้าง การแจ้งขึ้นทะเบียนเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สำนักงานประกันสังคมเตรียมที่จะขยายฐานการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้าง หลังวันที่ 20 ตุลาคม 2558 นั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด สำนักงานประกันสังคมเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม และห่วงใยผู้ประกันตน ลูกจ้าง รวมทั้งนายจ้าง จึงยังคงยืนยันที่จะเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างร้อยละ 5 ของฐานเงินเดือนที่กำหนดไว้ คือ 1,650-15,000 บาทอยู่เหมือนเดิม”
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนทุกคนในระบบประกันสังคม ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการ พัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด