นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมการจัดหางานชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้าง ผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน หลังพบ อาจเป็นช่องทางให้ขบวนการนายหน้าและโบรกเกอร์เถื่อนอ้างกับนายจ้าง/ผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ในช่วงสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีมาตรการการเข้าประเทศของคนต่างด้าวที่เคร่งครัด และยังมีการปิดจุดผ่านแดนเข้าออกประเทศทั้งหมด โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเกินจริง
“ สิ่งที่เป็นปัญหาคือ มีขบวนการนายหน้าเถื่อน อ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในอัตราสูง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานขอแจ้งว่า ผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมี 2 กลุ่มคือ 1) นายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง และ 2) มอบอำนาจให้บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมการจัดหางาน อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการให้ โดย ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 มีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ จำนวน 245 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้รับอนุญาตฯในกรุงเทพฯ 73 แห่ง และส่วนภูมิภาค 172 แห่ง
ซึ่งข้อมูลรายชื่อบริษัทฯ จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ สามารถดูรายละเอียดค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่าย รวมทั้ง รายชื่อบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน เพิ่มเติมได้ที่ www.doe.go.th และขอย้ำเตือน นายจ้าง/ผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกขบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวงดังกล่าว ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่โดยทันที หรือ แจ้งสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อจะได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ” นายสุชาติฯ กล่าว
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง หากพบผู้กระทำผิด จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศหรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ