นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประจำปีงบประมาณ 2562
ซึ่งสำนักงาน กกพ.เล็งเห็นว่าปัจจุบันบทบาทของสื่อมวลชนมิใช่เฉพาะการสื่อสารสาธารณะเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นต้นแบบในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจเรื่องพลังงานที่ถูกต้องสู่สาธารณะ และที่สำคัญการเกิดขึ้นของเครือข่ายจะทำให้สื่อมวลชนในหลายแขนงได้มาพบปะรับทราบข้อมูลข่าวสาร รู้และเข้าใจข้อมูลด้านพลังงานไฟฟ้าได้แลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน อันจะช่วยสร้างสัมพันธ์ภาพที่มีต่อกัน
“เครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป จะทำให้เกิดการขยายผลไปสู่ภาคประชาชนและสังคม ให้เกิดความตระหนักรู้ และมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะมากขึ้น ความร่วมมือของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต”นายกิตติพงษ์ กล่าว
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทย ใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินกิจกรรมสัมภาษณ์ เชิงลึกสื่อมวลชน (Focus Group) ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ทำให้สื่อมวลชนมีความรู้ ความเข้าใจ ได้ดียิ่งขึ้น เกิดการรวมตัวของสื่อมวลชนที่สนใจ และนำมาสู่การสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนในวันนี้
“เครือข่ายสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นนี้ มาจากตัวแทนสื่อมวลชนทั่วประเทศ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้อง สู่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นผลเป็นรูปธรรม คือ ทำให้ภาคประชาชนหรือสาธารณชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นของการมีพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพื่อเอามาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงขยะ วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เครือข่ายฯ จะมีการกำหนดแนวทางในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน และจะมีการประชุมร่วมกันอีก 3 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเติมองค์ความรู้ที่จำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงาน ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ จึงคาดได้ว่าเมื่อภาคประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้อย่างถ่องแท้แล้ว จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน สังคม และประชาชนต่อไปในอนาคตสำหรับปีงบประมาณ 2563 นี้ได้รับงบประมาณจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมาจำนวน 9,500,000 บาท” นางดรุณวรรณ กล่าว
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และที่ปรึกษาโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า เครือข่ายสื่อมวลชนที่จัดตั้งขึ้น จะเข้ามามีบทบาทในการให้ข้อมูลด้านพลังงานทางเลือกที่ถูกต้องแก่ชุมชน และเป็นตัวเชื่อมที่จะทำให้ชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนสามารถที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนของตัวเองได้ในอนาคต
“บทบาทของสื่อมวลชน การให้ความเข้าใจในเรื่องของพลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะสื่อมวลชนท้องถิ่นนั้นการให้ความเข้าใจกับประชาชน กับคนในชุมชน ซึ่งไม่เพียงแต่ในเรื่องพลังงานทางเลือกเท่านั้น แต่รวมถึงในเรื่องพลังงานของประเทศว่าเราอยู่ในฐานะของผู้นำเข้าพลังงาน จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อม ๆ กับทำอย่างไรจะดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งสื่อมวลชนจะต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้” นายมนูญ กล่าว