วันนี้ (25 กรกฎาคม 2563) นายมนัส อรุณวัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ในฐานะผู้แทนจาก MEA ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือเพื่อการเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกันของแต่ละเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) กับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ รวมจำนวน 11 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัท จีแอลที กรีน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด และบริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อดำเนินการ และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า และแสวงหาแนวทางความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมจูปิเตอร์ 8 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า MEA มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินภารกิจในด้านพลังงานเพื่อวิถีชีวิตของเมืองมหานคร ซึ่งการศึกษา วิจัย และสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้น เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ MEA ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการลงนามครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำมาตรฐานและข้อกำหนดการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายฯ การบริหารจัดการด้านข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานที่ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทุกแห่งได้สะดวกรวดเร็ว ไปจนถึงการสร้างมาตรฐานค่าธรรมเนียมกลางการใช้บริการให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรม
MEA จึงเตรียมความพร้อมโดยจัดทำ MEA EV application แอปอัจฉริยะ เพื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองรองรับการใช้งานยานยนต์ในอนาคต มีฟังก์ชันเด่นอำนวยความสะดวก เช่น ทราบตำแหน่งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่าย จองหัวชาร์จล่วงหน้า มีระบบนำทางไปสถานีชาร์จบนแผนที่ สั่ง Start/Stop การชาร์จ พร้อมทั้งแสดงข้อมูลการชาร์จ ตรวจสอบประวัติการชาร์จได้ ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งดาวน์โหลดใช้งานฟรี คลิก http://onelink.to/meaev
ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนได้ขยายวงกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานในด้านประหยัดค่าใช้จ่าย ได้ใช้ยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ MEA ในการดำเนินภารกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย