พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีมติเห็นชอบให้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 21 ตามที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรักษาการรมว.คลังเสนอ หลังจากที่ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่า ธปท.ที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานได้รายงานผลการพิจารณามาให้พิจารณา
ประวัติการศึกษาของ 'เศรษฐพุฒิ' มีดีกรีเป็นนักเรียนทุนด้านเศรษฐศาสตร์จาก Swarthmore College ของสหรัฐ ก่อนจะเข้าเรียนต่อและจบการศึกษาระดับปริญญาเอกใน Yale University ที่สหรัฐ
หลังจบการศึกษาเขาทำงานเป็น Business Analyst ที่ McKinsey&Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ชื่อดังของสหรัฐ ก่อนจะเข้าทำงานเป็น 'เศรษฐกร' ให้กับ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ในช่วงระหว่างปี 2535-2541
กระทั่งภายหลังเกิด 'วิกฤติเศรษฐกิจ' ครั้งรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเมื่อปี 2540 หรือ 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' เขาถูกรัฐบาลไทยเรียกตัวกลับเพื่อมาช่วยฝ่าวิกฤติในคราวนั้น โดยรับตำแหน่งเป็น 'ผู้อำนวยการร่วม' สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ทำงานร่วมกับ 'วิรไท' ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบัน
'เศรษฐพุฒิ' เข้าร่วมทีมคลังสมองของกระทรวงการคลังได้เพียง 2 ปี ก็สามารถพาเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นวิกฤติในคราวนั้น ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปทำงานต่อที่เวิลด์แบงก์
สำหรับผู้ลงสมัครคัดเลือกผู้ว่าธปท. 6 คน ประกอบด้วย นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.และ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.ขณะที่ผู้สมัครจากภายนอก 4 คน คือ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หนึ่งในบอร์ดกนง. , นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน บลจ. เจเอฟ จำกัด หรือเอเจเอฟ และน.ส.ต้องใจ ธนะชานันท์ อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน บลจ. เจเอฟ