กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร และสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ จัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนภาคใต้ และให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมการกำหนดแนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมจาก 14 จังหวัด รวม 400 คน
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ว่า สำหรับสถานการณ์การผลิตทุเรียนในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทย ลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูก 571,373 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 437,995 ไร่ คาดการณ์ว่า ปี 2563 จะมีปริมาณทุเรียนจากภาคใต้ออกสู่ตลาดรวม 588,337 ตัน ขณะนี้ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีการกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคภายในประเทศ และต่างประเทศที่สำคัญคือ การส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) ซึ่ง จ.ชุมพร นับเป็นตลาดสำคัญ เนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และจีนยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตของทุเรียนไทย
ด้านนายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เปิดเผยว่า สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ มีคณะกรรมการรวม 20 คน ขณะนี้มีสมาชิก 3,400 ราย 1 ปีที่ผ่านมา สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ได้จัดทำระเบียบสมาพันธ์ และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งเป็นสมาคมชาวสวนทุเรียน
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ที่ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ โดยจะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ต้นน้ำ คือส่งเสริมแนวคิดการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาชิก การวางแผนการผลิตเพื่อตอบโจทย์การตลาด ส่งเสริมการเรียนรู้ปัจจัยพื้นฐานการผลิต
ตลอดจนระบบการผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP ทุเรียน กลางน้ำ ส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลแปลงใหญ่ สมาชิกสมาพันธ์เชิงประจักษ์ การสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมาพันธ์ ส่งเสริมแนวคิดการบริหารจัดการกลุ่ม/องค์กรชาวสวนทุเรียน ปลายน้ำ ส่งเสริมการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ หรือการส่งผลผลิตให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง การจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากทุเรียนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาด
ทั้งนี้ คาดว่า จากแนวทางการยกระดับสมาชิกเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพทุเรียนจะเกิดผลสัมฤทธิ์ คือ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นทางการ มีการบริหารจัดการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ มีการทำแผนธุรกิจทุเรียน ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต จัดหาตลาดซื้อขายที่แน่นอน มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญามาปรับใช้ในแปลงปลูก การใช้เครื่องทุ่นแรง (เครื่องจักร เครื่องมือ) เพื่อลดการใช้แรงงาน รวมทั้งมีการบริหารจัดการเงินทุนและทรัพยากรของกลุ่ม เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนของกลุ่มต่อไป