การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลักดันการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน เป็นไปตามยุทธศาสตร์การผนักดันส่งเสริมการการใช้พลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น
โรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานมีกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ โดยนำน้ำที่เขื่อนจะต้องระบายอยู่แล้วมาผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งก่อนระบายลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำตามเดิม โดยยังสามารถใช้น้ำเพื่อการชลประทานได้ปริมาณเท่าเดิม นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กฟผ. ได้ร่วมกับกรมชลประทานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานตั้งแต่ปี 2550 โดยดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 8 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนนเรศวร เขื่อนแม่กลอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ กำลังการผลิตรวม 85.45 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน กฟผ. กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนอีก 2 แห่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก ขนาด 14 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 และเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานของ กฟผ. ทั้งหมดจะมีกำลังผลิตรวม 101.95 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังน้ำจึงเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ช่วยสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทางหนึ่ง