โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
จีนเลิกเป้า GDP
เรื่องนี้เป็นข่าวมา 2 เดือนกว่าแล้ว แต่เพราะมีประเด็นอื่นที่ต้องนำเสนอก่อน จึงเพิ่งหยิบมาเขียนในฉบับนี้ ซึ่งก็ยังไม่ตกกระแสเพราะ “โลกของจีน” นั้นกว้างใหญ่ และต้องติดตามกันยาวๆ
จากการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน( National People's Congress : NPC) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้แถลงว่า ปีนี้รัฐบาลจีนไม่ได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) เพราะจีนกำลังรับมือกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ลำบาก เช่น ความไม่แน่นอนจากการระบาดของ COVID-19 สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลก และบรรยากาศด้านการค้าระหว่างประเทศ
การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย นับแต่ปลายปี 2562 แล้วกระจายไปทั่วจีนในช่วงต้นปี 2563 มีผลให้เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกหดตัวลงถึง 6.8 % จากที่ตอนปลายปี 2562 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนตลอดปี 2563 จะเติบโต 6-6.5%
ก่อนประชุม NPC ในเดือนพฤษภาคม จีนคงเห็นตัวอย่างหลายประเทศที่ต้องปรับ GDP กันแบบโกลาหล
สหรัฐอเมริกา ไตรมาสแรกติดลบ 4.0% รุนแรงสุดในรอบ 11 ปี ไตรมาสสองกลับมาขยายตัว 2% กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองอเมริกาว่าเดือนมิถุนายนติดลบ 8% เดือนกรกฎาคมจะติดลบ 6.6% เพราะไวรัสยังระบาดต่อเนื่อง หลายเมืองยังต้องล็อคดาวน์ต่อไป
สหราชอาณาจักร ไตรมาสแรกติดลบ 2% แต่เดือนเมษายนหดตัวหนักติดลบถึง 20.3% เพราะนายกรัฐมนตรีบอริสจอห์นสัน ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล ทำเอาปั่นป่วนทั้งประเทศ ธนาคารกลางอังกฤษคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 14%
อินเดีย ช่วงแรกๆ ดูดีว่าไม่มีการระบาด คนอินเดียคงปอดแข็งแรงเพราะกินเครื่องเทศมาก เศรษฐกิจไตรมาสแรกจึงขยายตัวถึง 3.1% แต่หลังจากเดือนมีนาคม อินเดียก็เริ่มวุ่นวายจากการระบาด กลายเป็นวิกฤติในปัจจุบันที่มียอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านคน สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก สถาบันโกลด์แมนแซคส์คาดว่า ไตรมาส 2 เศรษฐกิจอินเดียอาจจะติดลบถึง 45%
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่งประเมินภาพอินเดียในทางเดียวกันว่า การควบคุมการแพร่ระบาดที่สะท้อนการขาดประสิทธิภาพในการควบคุมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีผลให้เศรษฐกิจอินเดียอ่อนแอลงอย่างมาก ปีนี้ GDP อาจติดลบ 5% หรืออาจจะเลวร้ายกว่านี้
สิงคโปร์ ชาติที่เคยแข็งแกร่งสุดในอาเซียน ตอนแรกรับมือไวรัสได้ดี ติดเชื้อน้อยเสียชีวิตน้อย ไตรมาสแรกติดลบแค่ 0.7% แต่จู่ๆ กลับมาระบาดหนัก กลายเป็นติดเชื้อมากอันดับ 3 ของอาเซียน ไตรมาสสองติดลบหนักถึง 41.2% กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เคยประเมินไว้ตอนต้นปีว่าทั้ งปีจะติดลบ 1-4% แต่ตอนนี้ปรับใหม่เป็นอาจจะลบ 4-7%
เหล่านี้คือตัวอย่างที่ทำให้รัฐบาลจีนคงเห็นว่า ป่วยการที่จะไปประกาศตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งๆ ที่รู้ว่ามีปัญหาใหญ่หลวงรออยู่ และมีความผันแปรอีกมากมายที่จะทำให้ตัวเลขเปลี่ยนไปได้ทุกขณะ ถ้าสถานการณ์ยังไม่นิ่ง หรือการผลิตวัคซีนยังไม่สำเร็จ
กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าเมื่อไม่มีเป้า GDP แล้วจีนจะไม่ทำอะไร รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของปี 2020 ไว้ที่ 3.5% เพราะต้องคำนึงถึงปัญหาปากท้องของชาวจีน 1,400 ล้านคนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเรื่องอัตราการว่างงานที่ต้องเหลือ 5.5% เมื่อเทียบกับอัตรา 6% ในปี 2019 โดยนายกฯ หลี่ เค่อ เฉียง ประกาศสร้างงานในเขตเมืองมากกว่า 9 ล้านตำแหน่ง เพราะมีข้อมูลว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อต้นปี ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 6% หรืออาจจะมากกว่านั้น
เป้าหมายต่อมาที่ไม่ได้มุ่ง GDP คือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าและมวลชน เทคโนโลยี 5G ที่โลกตะวันตกเกรงกลัวความล้ำหน้าของจีน การบริหารจัดการน้ำ (ที่ประเทศไทยได้แต่ฝันกันบนโต๊ะประชุม) การลงทุนพัฒนาระบบรถพลังงานไฟฟ้า
แม้ COVID-19 จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลปักกิ่งก็ยังมีเป้าหมายเดินหน้าเรื่องขยายการค้าระหว่างประเทศ ยังให้ความสำคัญต่อบทบาทของเงินทุนต่างประเทศ โดยเพิ่มช่องทางการลงทุนของชาวต่างชาติให้มากขึ้น
วิกฤติจากไวรัส ทำให้เกิดโอกาสด้านสาธารณสุขของจีนที่ทั่วโลกมองเห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีด้านการแพทย์และยอมรับความสามารถของบุคคลากร จีนถือโอกาสนี้ทุ่มทุนพัฒนาวัคซีน เวชภัณท์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและเผื่อแผ่ต่อนานาชาติ
“ความมั่นคงด้านอาหาร” เป็นเป้าหมายดั้งเดิมของจีนมากว่า 70 ปี เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากของคนในชาติ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการรักษาผลผลิตด้านการเกษตรในประเทศเพื่อเลี้ยงปากท้องชาวจีนในยามวิกฤติ
ที่จริงแล้วการไม่ตั้งเป้า GDP ไม่ใช่เรื่องใหม่ของจีนในช่วงหลัง
เมื่อ 3 ปีก่อนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็เคยกล่าวในที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า เป้าหมายของจีนยุคใหม่ ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นในอดีต เพราะจีนก้าวผ่านจุดนั้นมาแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ “คุณภาพชีวิตที่ดีของชาวจีน” ซึ่งในปี 2563 นี้ คือหมุดหมายที่ชาวจีนจะก้าวพ้นระดับความยากจน
จึงเหลืออีก 2 เป้าหมายให้มุ่งไปสู่คือ “ความเป็นสมัยใหม่ของชาติจีน” ที่จีนเคยประกาศยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (ปีพ.ศ.2568) ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค กับเป้าหมาย “ความภาคภูมิใจในสถานะมหาอำนาจของจีน”
2 เป้าหมายนี้แหละ ที่ไปกระตุ้นต่อมบ้าเลือดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ให้ทนเฉยไม่ได้ต้องออกมาท้าวางมวยกับจีนจนกลายเป็น “สงครามการค้า” พาโลกสยอง