ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
วราวุธ ขอขมาเทวดาแบบโบราณล้านนาเมืองแพร่ เหตุรื้อถอน บ้านบอมเบย์เบอร์มา
03 ส.ค. 2563

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ ทำพิธีขอขมาบอกกล่าวเทวดาแบบล้านนา หลังรื้อถอนอาคารเก่าแก่ "บอมเบย์เบอร์มา"

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า​ เข้าใจความรู้​สึก​ ​ความเสียใจของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดแพร่ทุกคน​ กับสิ่งที่เกิดขึ้น​ อาคารที่ถูกรื้อหายไป​ ทำร้ายจิตใจทุกคน​ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถนำความรู้สึกกลับคืนมาได้​ ​ จากนี้ไปในส่วนที่ผิดพลาดหรือมีการกระทำผิด​ทางราชการก็จะตั้งกรรมการสอบสวน​ หากกระทำผิดจริงก็ต้องรับผิดชอบ​ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนที่ดี​ และขอให้คำมั่นสัญญาว่าการทำงานจากนี้ไปจะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ​ จะรับฟังความคิด​ คำแนะนำจากทุกฝ่าย​ ทั้งภาคราชการ​ ภาคเอกชน​ และประชาชน​ และจะร่วมกันพัฒนา​ บูรณะ​ สวนรุกขชาติเชตวัน​ ให้เป็นที่เชิดชู​ เป็นแหล่งเรียนรู้​ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแพร่​ ต่อไป​ นอกจากนี้​ รมว.ทส.​ ยังได้ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่​ และส่วนราชการ​ที่เกี่ยวข้อง​ ให้ช่วยกันให้ความสำคัญในการกักเก็บน้ำ​ ธนาคารน้ำใต้ดิน​ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภค​ น้ำเพื่อการเกษตร​ ใช้ในช่วงฤดูแล้งในปีหน้าและปีต่อ​ ๆ​ ไป

“การทำงานทุกโครงการของกระทรวงฯ​ ขอให้​เน้นที่ความสำเร็จ​ ใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า​และเกิดประโยชน์สูงสุด​ต่อประชาชน​ ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา​ ปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน​ในพื้นที่ให้พูดคุยทำความเข้าใจ​ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน​เป็นสำคัญ รวมทั้ง​ให้บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในกระทรวงฯ​ และจังหวัด​โดย​การทำงานขอให้หารือและรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย​ ยึดหลักการทำงาน "ขยัน​ ซื่อสัตย์​ อดทน​ และมีวินัย" นอกจากนี้​ ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้​ เข้าใจในสิ่งที่กระทรวงฯ​ ได้ดำเนินการ​ และสิ่งสำคัญ​ที่สุด​ให้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์​ โดยห้ามไม่มีการนำสถาบันฯ​ มาแอบอ้างให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท​ และทำงานให้เต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองคุณแผ่นดิน”

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอยืนยันกับประชาชนให้มั่นใจถึงการฟื้นฟูครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส การดำเนินการจะเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และพร้อมเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้อาคารประวัติศาสตร์คืนมาเป็นสมบัติของคนไทย การทำงานหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนขึ้นมาทำงานร่วมกันว่ารูปแบบที่ควรจะเป็นควรเป็นอย่างไร โดยมีรูปแบบ 3 รูปแบบที่ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์และได้ข้อสรุปภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ โดยใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 8 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็ตภายใน ก.ย.หรือต.ค. 2564 โดยเรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหาแต่ก่อนอื่นต้องสรุปแบบให้เรียบร้อยก่อน

สำหรับแนวทางการบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน เน้นการมีส่วนร่วมในการบูรณะฟื้นฟู กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมศิลปากร ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ และภาคประชาสังคม ดังนี้

1. การบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน ต้องบูรณะฟื้นฟูอาคารให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และเป็นไปในรูปแบบของการบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมในทุกขั้นตอน

2. กรมศิลปากร จะรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษา กำกับ ดูแลเรื่องการออกแบบ ถอดแบบอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน ให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุดและนำของเดิมมาใช้ให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยข้อมูลเดิมจากหอจดหมายเหตุ และข้อมูลภาพถ่ายเดิมจากภาคประชาชน เมื่อออกแบบเสร็จแล้วจะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอความคิดเห็นร่วมกันในการเลือกแบบของอาคารที่จะทำการบูรณะฟื้นฟู ทั้งนี้เพื่อให้อาคารที่จะได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นนี้เป็นอาคารที่ได้ดีที่สุด และเป็นแบบที่ได้รับการเลือกโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนเมืองแพร่

3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณ พร้อมทั้งสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ในการบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ โดยให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

 

อาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ ตั้งอยู่ในสวนรุกขชาติเชตวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ กระทรวงเกษตรฯ(กรมป่าไม้) ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ 48-1-87 ไร่ และอาคาร 2 หลัง เพื่อเป็นที่สำหรับใช้ในราชการกรมป่าไม้ (ที่ตั้งที่ทำการป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด) เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2505 เป็นอาคารลำดับที่ 1 (พร.103) ขนาด 900 ตร.ม. ลักษณะเป็นเรือนทรงปั้นหยาไม้ 2 ชั้น เสาไม้สัก  ฝาไม้สัก พื้นชั้นล่างคอนกรีต-ชั้นบนไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องไม้สัก การได้มาด้วยเงินงบประมาณ 562,500 บาท การใช้ประโยชน์เป็นที่พักและที่ทำการป่าไม้ (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ 947/2505) ปัจจุบันคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ เนื่องจากบางส่วนถูกแม่น้ำยมกัดเซาะพังลงไปในแม่น้ำ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้มีการแบ่งส่วนราชการของกรมป่าไม้ ออกเป็น 3 กรม ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาคารหลังนี้จึงอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการใช้ประโยชน์เป็นบ้านพักรับรอง ต่อมาในปี พ.ศ.2559 จัดตั้งเป็นสวนรุกขชาติเชตวัน มีการใช้ประโยชน์อาคารเป็นศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ จนถึงปัจจุบัน ในปี 2559 มีนายประพงษ์ อรรคสีวร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้มาทำหน้าที่หัวหน้าสวนรุกขชาติจากนั้นจึงได้สำรวจอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวันแล้วพบว่า มีสภาพอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม มีการผุกร่อนของระเบียง สีของไม้ฝ้าด้านนอกหลุดลอก มีการเอียงของเสาบ้านหลายแห่ง เสาถูกปลวกกิน ทำให้โครงสร้างตัวบ้านอาจจะพังลงมาได้ หัวหน้าสวนรุกขชาติได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้ไม้มาค้ำเสริมเสาและคานบางส่วนของบ้านไว้เป็นการชั่วคราว แต่หากไม่ดำเนินการซ่อมแซมอาคาร เกรงจะเป็นอันตรายกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้มาเยี่ยมชม จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...