ดร.เฉลิมชัย นำเสวนา “โลกเดือด แผ่นดินขยับ” สร้างความตระหนักรู้ของทุกภาคส่วน ให้อยู่กับความเสี่ยงได้อย่างยั่งยืน ปลอดภัย
วันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ลดความหวั่นวิตก สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน และพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมรับมือกับธรณีพิบัติภัย และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมี นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการ รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้แทนสถาบันการศึกษา สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย สื่อมวลชน
และผู้ที่สนใจกว่า 200 คน เข้าร่วมรับฟังการเสวนา ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในฐานะที่ ทส. โดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษา วิเคราะห์วิจัยและสำรวจด้านรอยเลื่อนมีพลัง และธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว จะต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของภัยแผ่นดินไหว เพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับมือจากภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต และจากบทเรียนเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การวางมาตรการป้องกันและลดความสูญเสีย หากเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นอีกในอนาคต และการสร้างขีดความสามารถให้กับประชาชนในสังคมไทย สามารถปรับตัวอยู่กับความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและ Climate Change ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
โดยการเสวนาในครั้งนี้ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ด้านธรณีวิทยา ตลอดจนด้านอุตุนิยมวิทยา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงภัยอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” และการปาฐกถาพิเศษ โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปกท.ทส. ซึ่งได้กล่าวเน้นย้ำว่า ทส. มีองค์ความรู้และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา จึงต้องเป็นหน่วยงานต้นแบบด้านการตระหนักรู้และรับมือกับเหตุการณ์ธรณีพิบัติที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำไปสู่ความเชื่อมั่นของประชาชนในสังคมไทยในการดำเนินชีวิตต่อไป