พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีแขกวีไอพีของรัฐบาลเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมอาทิ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
หลังการประชุม พล.อ.วิทวัส แถลงว่า การประชุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยรัฐหลังปรากฏกระแสข่าวแขกวีไอพีของรัฐบาลทั้งเจ้าหน้าที่ทหารอียิปต์ ครอบครัวนักการทูตซูดาน เดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จนทำให้ประชาชนมองว่า ศบค.การ์ดตกเสียเอง ซึ่งจากการหารือทางเลขาสมช.ได้ชี้แจงถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในระยะต่อไปให้กับ 5 กลุ่มคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจาก 5 ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว การสัมมนาระดับนานาชาติ และผู้ถืออิลิทการ์ด ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผู้ที่เข้ามาจะต้องทำข้อตกลงพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด
แต่ทั้งนี้ที่ประชุมมีความกังวลเป็นกรณีของแรงงานต่างด้าว ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรณีที่ต้องกักตัวแรงงานต่างด้าวที่จะกลับมาทำงานในประเทศ เบื้องต้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 2 หมื่นบาทแม้พยายามจะปรับลดแล้วเหลือคนละ 13,200 บาท ก็จะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ทางศบค.แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข และกระทรวงแรงงานไปหารือร่วมกันโดยเบื้องต้นมีการกำหนดสถานที่กักตัวหลายแห่งเพื่อรองรับแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ที่ประชุมยังยืนยันว่า ระบบติดตามตัวหรือแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ยังมีความจำเป็นแต่ปัญหาคือการบังคับใช้
พล.อ.วิทวัส ยังกล่าวว่า ในกรณีของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศและต้องการจะเดินทางกลับมาอยู่กับครอบครัวที่ประชุมได้รับทราบว่าเรื่องการตรวจคัดกรองก่อนเดินทางไม่มีปัญหา เครื่องบินที่จะไปรับก็ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ความไม่แน่นอนของคนไทยที่ลงทะเบียนไว้แล้วยกเลิกการเดินทางกลับ ทำให้การดำเนินการงานไม่เป็นไปตามแผนงาน เนื่องจากคนไทยกลุ่มดังกล่าวที่ยกเลิกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการยกเลิการกักตัวและยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตนก็ได้ย้ำว่าไม่ว่าจะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เรื่องการกักตัว 14 วันยังจำเป็น เพราะการกักตัวถือว่ามีคุณภาพสูงสุดในการเฝ้าระวังคัดกรองโรคโควิด -19
ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศก็ควรประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รับทราบว่าเมื่อศบค.มีคำสั่งผ่อนปรนให้ 5 กลุ่มนี้ ซึ่งมีต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ ก็ยังต้องเข้มเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนทราบว่าการควบคุมซึ่งเป็นข้อจำกัดในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่หากปล่อยให้เกิดการระบาดของโรคอีก ก็จะส่งผลทางด้านเศรษฐกิจเช่นกัน จึงต้องรักษาสมดุลทั้งสองเรื่อง ซึ่งศบค.ก็ไม่ได้หวังจะรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ แต่ควรพอเหมาะกับขีดความสามารถที่โรงพยาบาลจะรับรักษาได้และโรคไม่แพร่ขยายมากเกินไป
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่าจะยังคงมีพระราชกำหนก (พ.ร.ก.)ฉุกเฉินต่อไปใช่หรือไม่ ประธานผู้ตรวจฯ ชี้แจงว่า เลขาฯสมช.รายงานว่า ก็เกรงจะมีการนำพ.ร.ก.ไปผูกกับสถานการณ์การเมือง แต่หัวใจสำคัญคือเรื่องของการกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิถ้าไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่สามารถบังคับกักตัว 14วันได้ รัฐบาลก็พยายามหาทางออก ซึ่งก็ได้แนะนำว่าให้ดูว่าในพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อมีข้อความใดที่จะนำไปออกเป็นพ.ร.ก.ที่ให้สามารถบังคับกักตัว ขึ้นใช้ทดแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะได้ใช้กฎหมายนั้นมาทดแทน แต่ขณะนี้ยังไม่มี ดังนั้นคนไทยก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องการกักตัว เป็นมาตรการสำคัญในการคัดคนติดเชื้อ กับคนไม่ติดเชื้อออกจากกัน ถ้าไมมีมาตรการนี้ก็จะเป็นอันตรายกับคนไทยส่วนใหญ่
เมื่อถามว่า ได้มีการหารือถึงปัญหาการรับรองบุคคลวีไอพีกับตัวแทนศบค.หรือไม่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงให้เข้าใจว่าหลังเกิดปัญหาแล้วในวันที่ 17 ก.ค.ก็ได้เชิญผู้แทนของสถานทูตในประเทศไทย มาทำความเข้าใจแม้มีความสัมพันธ์ แต่ขอให้รักษามาตรการป้องกันโควิด -19 ซึ่งทุกประเทศก็ตอบรับ อย่างไรในเรื่องนี้ไม่ได้มีผู้ร้องมาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เป็นความปรากฏต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเหตุดังกล่าว