ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่ชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำในบึงบอระเพ็ดจะมีปริมาณน้ำ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากขนาดความจุ 180 ล้าน ลบ.ม.เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม
สทนช. คาดการณ์ว่าในอีก 3 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าบึงฯ เพิ่มขึ้น ประมาณ 1.26 ล้าน ลบ.ม. จากอิทธิพลของพายุซินลากู แต่เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้น บึงบอระเพ็ดจะเป็นจุดรับน้ำหลากได้เป็นอย่างดี โดยทำการสูบน้ำเข้าสู่บึงฯ ควบคู่กับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโครงการเร่งด่วนปี 2563-2565 ภายใต้แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ การตรวจสอบการใช้ที่ดินในพื้นที่ “ให้ หวง ห้าม” การบริหารจัดการน้ำโดยปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในบึง สอดคล้องกับการปรับปฏิทินปลูกพืช ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลางปี 63 วงเงิน 44 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขุดลอกตะกอนบึงบอระเพ็ดรองรับน้ำในฤดูฝนนี้ไว้ล่วงหน้า ดำเนินการโดยกรมประมงและกรมชลประทาน
ขณะที่การดำเนินการโครงการอื่น ๆ ซึ่งจะพร้อมดำเนินการในปี’64 – 65 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดการเสนอรายละเอียดแผนงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนหลักฯ ต่อไป อาทิ ขุดลอกคลองดักตะกอนขอบบึงฯ ขุดบึงบอระเพ็ดทำวังปลา (Deep Pool) การแก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยปรับปรุงประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ขุดลอกคลองวังนา ปรับปรุงประตูระบายน้ำคลองบางปอง ซึ่งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วนข้างต้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนจะสามารถระบายน้ำได้ 880 ลบ.ม./วินาที พื้นที่รับประโยชน์ 3,000 ไร่ เพิ่มความจุได้ 21.5 ล้าน ลบ.ม. และบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่ ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำของบึงบอระเพ็ดให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้วย
“บึงบอระเพ็ดเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ ซึ่งมีการให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ และกำหนดขอบเขตบึงเพื่อเป็นเขตหวงห้าม มีเนื้อที่ 132,639 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ของ จ.นครสวรรค์ ได้แก่ อ.เมือง อ.ท่าตะโก และ อ.ชุมแสง ซึ่งการดำเนินการแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1. บริหารจัดการ/การเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์ “ให้ หวง ห้าม” 2. การแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำ จัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ขุดบึง ขุดลอกตะกอนดิน 3. คุณภาพน้ำ ตะกอน และรักษาระบบนิเวศ ขุดลอกทำวังปลา การรักษาระบบนิเวศด้านการประมงของบึงฯ 4. การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย ปรับปรุงทางน้ำเข้า-ออก การชะลอน้ำ กักเก็บน้ำ ลดน้ำท่วม 5. การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ และ 6. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยสร้างสระเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ทั้งนี้ เมี่อดำเนินการตาม 6 ด้านหลักจะส่งผลให้ภายในปี 2572 จะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ประมาณ 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วม 21,000 ไร่ ช่วยพื้นที่ภัยแล้ง 85,000 ไร่” ดร.สมเกียรติ กล่าว