กรมชลประทานเตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่วาง สร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนหวังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งลุ่มน้ำแม่วาง 13 ตำบล 3 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า สืบเนื่องมากจากราษฎรพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วางในเขตอำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตองและอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก อาศัยลำน้ำแม่วางเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค แต่ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำน้อยทำให้ขาดแคลนน้ำ ส่วนฤดูฝนน้ำในลำน้ำแม่วางไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนสองฝั่งลำน้ำแม่วางได้รับความเสียหาย ราษฎรในพื้นที่ 13 ตำบล 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้พิจารณาส่งเรื่องขอการสนับสนุนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ต่อสำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาวางโครงการ สำรวจ ออกแบบมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ที่ตั้งโครงการที่เหมาะสมอยู่ที่บริเวณ หมู่ที่ 1 บ้านใหม่ปางเติม ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถเก็บกักน้ำได้ 20.54 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเก็บกักน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตรของราษฎรบริเวณสองฝั่งลำน้ำแม่วางและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง เป็นการเพื่อช่วยในการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วาง เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคของราษฎรซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี รวมทั้งยกฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่”
แต่เนื่องจากพื้นที่พื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่วางอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งเข้าข่ายโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 รวมทั้งพื้นที่อ่างเก็บน้ำและพื้นที่หัวงานอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขานและป่าแม่วาง ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมเกินกว่า 500 ไร่ จึงเข้าข่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ต่อไป