แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พ่อถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง เป็นการส่งเสริมความรักความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำให้แม่มีสภาวะจิตใจที่ดี ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าตามมาได้ โดยพ่อสามารถปฏิบัติตนภายใต้ 10 วิธี ดังนี้ 1) ให้กำลังใจแม่ขณะให้นมลูก เพื่อให้แม่มีความมั่นใจและอบอุ่น 2) ให้ลูกได้อยู่กับแม่มากที่สุด โดยพ่อต้องยอมรับว่าในระยะนี้เวลาที่แม่จะมีให้พ่อมีน้อยลง 3) มีส่วนร่วมในการให้นมลูกคือขณะแม่กำลังให้ลูกดูดนม พ่อควรหาโอกาสอยู่ร่วมด้วย พูดคุย ให้กำลังใจ สัมผัส ช่วยประคับประคองลูก ซึ่งจะทำให้ความผูกพันพ่อแม่ลูกแน่นแฟ้นขึ้น 4) มีความอดทนและเข้าใจ หากบ้านอาจจะไม่เรียบร้อย อาหารอาจไม่อร่อยเนื่องจากแม่ให้เวลาส่วนใหญ่แก่ลูกมากกว่า
5) ช่วยทำงานบ้าน จ่ายตลาด จัดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำ นม ให้แม่ขณะที่ให้ลูกดูดนม ช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อม ช่วยอาบน้ำแต่งตัวให้ลูก 6) ทำใจให้สงบเยือกเย็น ถ้าขณะนั้นแม่เครียด เหนื่อย หงุดหงิดใจ ให้พ่อช่วยปลอบโยนแม่เพื่อช่วยให้สบายใจ หายหงุดหงิดให้พ่อช่วยนวดแม่เบา ๆ บริเวณคอ ไหล่ และหลังขณะกำลังให้นมลูก หรือเมื่อแม่รู้สึกเครียด ทำให้มีน้ำนมไหลมากขึ้น 7) หากครอบครัวมีลูกมากกว่า 1 คน พ่อก็จะเป็นหลักในการดูแลลูกๆ 8) แสดงความรักแก่แม่ อย่างต่อเนื่องอย่างที่เคยทำ 9) ตอบสนองความต้องการทางจิตใจของแม่ตลอดระยะของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และ 10) ห้ามซื้อขวดนม หัวนมปลอม หรือนมผสมเข้าบ้านเด็ดขาด
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญในช่วงที่พ่อช่วยแม่เลี้ยงลูกคือการส่งเสริมให้ลูกดื่มนมแม่ตามที่องค์การอนามัยโลกและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างเดียว 6 เดือนและต่อเนื่อง ควบคู่อาหารที่เหมาะสมตามวัย เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกมากที่สุดเพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ถือเป็นวัคซีนหยดแรกสำหรับลูก เด็กที่กินนมแม่จึงมีภูมิต้านทานโรค และเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบทางเดินหายใจระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลูกป่วยเป็นไข้หวัด ปอดอักเสบ ท้องร่วงน้อยกว่าทารกที่กินนมผสม 2-7 เท่า
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้พ่อมีสิทธิ์ลาคลอดได้หากเป็นข้าราชการและลูกจ้างราชการ เพื่อช่วยดูแลแม่และลูกน้อยระหว่างคลอด โดยพ่อข้าราชการมีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน 15 วัน ถ้าเป็นการลาภายใน 30 วันแรก นับตั้งแต่วันที่แม่คลอด มีสิทธิ์รับเงินระหว่างลาได้ โดยจะต้องมีหลักฐานสำเนาทะเบียนสมรสและสำเนาสูติบัตรของบุตรแนบมาด้วย และต้องจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาให้อนุญาตก่อน หรือในวันที่ลาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันคลอดบุตร โดยถือให้เป็นสิทธิ์การลาประเภทหนึ่งที่ยังได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ลา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว