คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงการณ์ ข้อเสนอของ ครป. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อปลดชนวนวิกฤติทางการเมือง มีเนื้อหาดังนี้
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอัตลักษณ์แบบอำนาจนิยม ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน ขณะที่มอบสิทธิและอำนาจแก่กลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอย่างมหาศาล ลักษณะเช่นนี้ทำให้รัฐธรรมนูญมีศักยภาพในการสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันความขัดแย้งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๑๒ ประเด็นหลักดังนี้
๑. ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมด เพื่อให้เกิดกระบวนการสรรหา ส.ว.ใหม่ตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ
๒. ยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๗๒ เพื่อให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติหลักในมาตรา ๑๕๙
๓. แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยให้ประชาชนสามารถสมัคร ส.ส. ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและให้แยกการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้งให้ออกจากกัน โดยในการเลือกตั้งประชาชนจะใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ สำหรับเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีอิสระภาพในการเลือกตั้งมากขึ้น
๔. แก้ไขมาตรา ๒๔๙ เพื่อขยายการกระจายอำนาจการปกครองแก่ประชาชนในทอ้งถิ่นให้มากขึ้น โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชน กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารระดับจังหวัดโดยตรงจากประชาชน และถ่ายโอนราชการภูมิภาคให้กับจังหวัดที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดทันที รวมทั้งจัดตั้ง “สภาพลเมือง” (ส.ม.) ขึ้นมาเป็นสภาคู่ขนานกับสภาท้องถิ่น เพื่อร่วมตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในท้องถิ่นนั้น และมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย
๕. ยกเลิกมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และให้บรรจุเรื่องการจัดทำประชามติโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเข้าไปแทน
๖. แก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยองค์กรอิสระทั้งหมด โดยให้คณะกรรมการสรรหาและการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นกรรมการในองค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติว่าต้องเป็นข้าราชการระดับสูงหรือเรียนจบปริญญาตรี และลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระให้เหลือ ๕ ปี
๗. ในหมวดการปฏิรูปประเทศ ควรแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาระดับชาติ (คศช.) เป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากการเมืองและมีวาระ ๗ ปี กำหนดให้มีการจัดการศึกษาฟรีแก่เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลายและอาชีวะศึกษาตอนต้น พร้อมทั้งส่งเสริมการศึกษาทางเลือกและการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง
๘. ควรเพิ่มเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานและทรัพยากรในหมวดการปฏิรูปประเทศ โดยมีการระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนไทย ในการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานและทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า จะต้องมี “คณะกรรมการระดับชาติด้านพลังงานและทรัพยากรที่เป็นอิสระจากการเมือง” ซึ่งมาจากการสรรหาและกำหนดสัดส่วนให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
๙. ควรเพิ่มเรื่อง “รัฐพึงป้องกันและปราบปรามการผูกขาดทางเศรษฐกิจและสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ
๑๐. ในหมวดสิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทย ควรเพิ่มเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการปกป้องและรักษาชุมชนจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ สิทธิแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชนทั้งในแง่ชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย สิทธิในการได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเพียงพอและทั่วถึง และสิทธิในการดำรงชีวิตที่ปลอดจากความรุนแรง
๑๑. แก้ไขมาตร ๒๕๖ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยการใช้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่น สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
๑๒. แก้ไขโดยเพิ่มหมวดที่ว่าด้วย “การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” ขึ้นมา ซึ่งกำหนดโครงสร้างระบบและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำโดยใช้การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน ๑ ปี ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะช่วยป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้