‘เกาะทะลุ’ แหล่งท่องเที่ยวและดำน้ำขึ้นชื่อของ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทยตอนบน เป็นจุดหมายของนักเดินเรือที่รู้จักกันมาหลายร้อยปีในฐานะ ‘ประตูสู่อ่าวสยาม’
แต่ก่อน เรือขนสินค้าจะเข้ามาอาศัยหลบลมพายุในช่วงฤดูมรสุม ทางด้านทิศใต้ของเกาะ ส่วนทางทิศเหนือจะมีลมพายุรุนแรงพัดกระหน่ำกัดเซาะหน้าผาจนทะลุ กลายเป็นช่องขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘เกาะทะลุ’ นอกจากนี้ บริเวณเกาะทะลุยังเป็นหนึ่งในสองแหล่งวางไข่และอนุบาลลูกปลาทูไทยที่สำคัญ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนปลาทูไทยลดลงอย่างน่าตกใจ และมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกจับมาก่อนจะโตเต็มวัย คนไทยจึงมีปลาทูไทยแท้ให้กินน้อยลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศมากขึ้นทุกปี
‘ปลาทูไทย’ มีความแตกต่างจากปลาทูนำเข้า คือ เนื้อแน่นและรสชาติดีกว่า ว่ากันว่าเพราะปลาทูไทยเติบโตในอ่าวไทย ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่การวางไข่ และเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์
นอกจากปลาทูไทยที่เคยหายไปแล้ว คุณปรีดา เจริญพักตร์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูทะเลสยามและอดีตชาวประมงที่เกาะทะลุเล่าว่า “ปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ก็ทยอยหายไปด้วยเช่นกัน อย่างปลาจะละเม็ดเทาหรือปลาเก๋าเต้ย ปลาเก๋า ปลาสร้อยนกเขา ปลาโฉมงาม ปลาครูดคราด ปลาทรายแดงหรือปลากะพงสีน้ำเงินฯ ล้วนแต่เป็นปลาเศรษฐกิจราคาสูงที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงอย่างเป็นกอบเป็นกำ หลายปีที่ผ่านมาปลาจำนวนมากหายไปจากเกาะทะลุ ทั้งที่ในอดีตชาวประมงเคยล่องเรือไม่กี่ชั่วโมงสามารถจับปลาได้เกือบหมื่นกิโลกรัม แต่ช่วงที่ผ่านมาล่องเรือทั้งวันเหลือเพียงไม่กี่ร้อยกิโลกรัมเท่านั้น รายได้หลักหมื่นเหลือแค่หลักร้อย ทำให้ชาวประมงไทยต้องล่องเรือออกทะเลไปจับปลาในระยะไกลขึ้นเรื่อย ๆ”
คุณปรีดา เจริญพักตร์ เล่าถึงที่มาของการย้ายเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะทะลุตั้งแต่ปี 2522 ว่า ภายหลังจากเคยนำเรืออวนลากเข้ามาจับปลาทู บริเวณด้านหลังเกาะทะลุจนตั้งตัวได้ จึงกลับมาซื้อที่ดินสวนมะพร้าวบนเกาะทะลุต่อจากชาวบ้านบนเกาะ ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาผืนดินบนเกาะทะลุให้เป็นของคนไทย และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นอดีต โดยได้สนับสนุนเรือและงบประมาณให้แก่เจ้าหน้าที่กรมประมง ที่เข้ามาทำงานตรวจอ่าวในสมัยนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งปี 2535 กรมประมงเล็งเห็นถึงความสำคัญของอ่าวบางสะพาน ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูไทย จึงผลักดันให้ประกาศเขตพื้นที่อ่าวบางสะพานเป็น “โครงการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน” ภายใต้แนวคิดสิทธิประมงหน้าบ้าน ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวประมงชายฝั่งให้ช่วยกันดูแลทรัพยากรและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
ต่อมา ปี 2542 มีการประกาศกฎหมายปกป้องพื้นที่อ่าวบางสะพาน รวมกว่า 150,000 ไร่ ถือเป็นต้นแบบของการจัดการประมงโดยชุมชนแห่งแรกของไทย โดยคุณปรีดาได้มอบที่ดินจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักงานของโครงการฯ และสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวประมงชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สาเหตุการหายไปของปลาที่เกาะทะลุ ส่วนใหญ่มาจากการทำประมง ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมืออย่างไม่เหมาะสม ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาขยะจากการท่องเที่ยวและขนส่งทางทะเล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศใต้ทะเล ทั้งแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และคุณภาพชีวิตสัตว์ทะเล ทำให้มนุษย์คิดค้นวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลขึ้น หนึ่งในนั้น คือ การสร้างแหล่งอาศัยทางทะเลหรือปะการังเทียม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย แหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลของลูกสัตว์ทะเล ปะการังเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัสดุที่หลากหลาย แต่ใครจะเชื่อว่า ‘ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า’ ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว จะสามารถนำมาสร้างเป็นบ้านปลาปะการังเทียมได้
นายวิศิษฎ์ ปฐมเจริญโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบ้านปลาปะการังเทียมฯ ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินโครงการวางบ้านปลาปะการังเทียม ด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของรัฐบาล โดยร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำบ้านปลา กฟผ. ไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทยตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 โดยวางครั้งแรกที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
จากนั้น นำไปวางในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา และภูเก็ต รวมทั้งหมดกว่า 3,100 ชุด และจะเดินหน้าโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ กองทัพเรือและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พิจารณาเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางต่อไป เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเลให้อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันหลายแห่งกลายเป็นป่าใต้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปะการังและสัตว์ทะเลนับล้านชีวิต โดยเกาะทะลุเป็นหนึ่งในจุดวางบ้านปลา กฟผ. ซึ่งวางครั้งแรกเมื่อปี 2558 ทุกวันนี้ที่เกาะทะลุมีสวนป่าใต้ทะเลที่ช่วยนำทางฝูงปลาที่เคยหายไป ทยอยพากันกลับมาอยู่ที่นี่อีกครั้ง
ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เดินทางจากฟากฟ้า … สู่ใต้ท้องทะเล โดยโครงการวางบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากชิ้นส่วนที่เคยทำหน้าที่รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศอยู่บนเสาไฟฟ้าแรงสูง เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว สามารถนำมาดัดแปลงและสร้างเป็นบ้านปลาปะการังเทียม จนปัจจุบันกลายเป็นสวนป่าใต้ท้องทะเลไทยที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าส่วนใหญ่ทำมาจากวัสดุที่มีส่วนประกอบของเซรามิก ที่สอดคล้องกับโครงสร้างหินปูนที่เกิดจากการสร้างตัวของปะการัง
ผลการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ของมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า โครงสร้างของลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และจากผลการวิจัย ‘โครงการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล’ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พบว่า ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง และไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมทางทะเล
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าถึงภาพใต้ท้องทะเลหลังจากลงไปดำน้ำสำรวจบริเวณเกาะทะลุว่า “บริเวณบ้านปลา กฟผ. มีสัตว์ทะเลหลากชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ ทั้งปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงามขนาดใหญ่ รวมทั้งลูกปลาขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ด้านในเพื่อหลบภัย ที่สำคัญ คือ มีปะการังจำนวนมากมายึดเกาะและเจริญเติบโตบนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี สังเกตว่า ปะการังสามารถเจริญเติบโตและเคลือบลูกถ้วยฯ ได้อย่างรวดเร็ว ปกติแล้วปะการัง 1 ตารางฟุต (30×30 เซนติเมตร) จะต้องใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตนาน 500-600 ปี แต่กลับสามารถเจริญเติบโตบนลูกถ้วยฯ ได้ถึงปีละ 2-3 เซนติเมตร รวมทั้งยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดแวะเวียนเข้ามาหาอาหารบริเวณจุดวางบ้านปลาแต่ละแห่งเป็นจำนวนมากด้วย”
จากการเก็บข้อมูลการทำประมงของชาวประมงในพื้นที่พบว่า ปัจจุบันเริ่มมีปลาเศรษฐกิจหายากหลายชนิดที่เคยหายไปถูกจับขึ้นมาได้มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะขายได้ในราคาสูง บ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลบางสะพานน้อยที่ได้รับการดูแลและฟื้นฟูจนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทำให้ปลาที่เคยหายไปพากันกลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวประมงที่นี่อีกครั้ง นางนิตยา รักษาราษฎร์ ประมงอำเภอบางสะพานน้อย เล่าเสริมขึ้นมา
ปลาที่เคยหายไป … กลับมาเพราะความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติใต้ทะเล ที่ในอดีตก็เคยหายไปเช่นกัน วันนี้ปะการังเติบโตและงดงาม สัตว์ทะเลหลากหลายชนิดแหวกว่ายให้นักดำน้ำยลโฉมอย่างไม่เขินอาย คนไทยมีปลาทูไทยแท้กินกับน้ำพริกกะปิผักต้ม ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว ชาวประมงจับปลาไปขายได้มากขึ้น …
บ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามทั้งหมดที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล แต่หากคนไทยทุกคนร่วมกันปกป้องและอนุรักษ์ทะเลไทยอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ แน่นอนว่า ทั้งปลาและป่าใต้ทะเลจะไม่มีวันหายไป จากทะเลไทยอีกแน่นอน