หากเป็นเรื่องของคนธรรมดา สามัญชนแบบเรา ๆ ท่าน ๆที่ชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้แข่งขันกันทางธุรกิจหรือการทำมาหากินย่อมมีความขัดแย้งกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาขบงทางโลก หากเจรจาประนีประนอมกันไม่ได้ คู่กรณีแต่ละฝ่ายก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะนำคดีความไปฟ้องร้องขอความยุติธํรรมต่อศาลทั้งคดีแพ่งและอาญาแล้วแต่กรณีที่เกิดขึ้น ผลการตัดสินเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น
แต่จากกรณี“พระฟ้องพระ”ที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์เมื่อหลายเดือนก่อน(วันที่ 5 เมษายน 2559)ว่า ...พระพุทธอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม เดินทางมายังศาลแพ่งถนนรัชดาภิเษก ตามที่ศาลนัดไต่สวนคดีที่หลวงปู่พุทธอิสระเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระราชวิจิตรปฏิภาณหรือเจ้าคุณพิพิธผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามเรียกค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาทประเด็นคำฟ้องเป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และตามข่าวแจ้งว่าคดีนี้ หากท่านเจ้าคุณพิพิธสำนึกผิดขอโทษต่อหลวงปู่พุทธอิสระ ท่านก็จะถอนฟ้อง แต่ที่ฟ้องก็ต้องการเพียงสั่งสอน ไม่ได้ฟ้องเป็นคดีอาญาที่มีโทษติดคุกติดตะราง...
กรณีดังกล่าวนี้ ในเรื่องคดีความจะยุติลงอย่างไร ก็เป็นเรื่องศาลที่จะว่าไปตามกระบวนการของท่าน แต่ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอก็เพราะเห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงของประเทศเป็นพระนักการเผยแผ่ธรรมให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนตั้งอยู่มั่นในหลักธรรมคำสอนของทางพระพุทธศาสนาและหลักการพระพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้คน“ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใส”หลีกเลี่ยงการกล่าวร้ายซึ่งกันและกัน
หากเป็นพระภิกษุก็ต้องสำรวมในพระปาฏิโมกข์(รักษาศีล 227ข้อ)และเมื่อมีข้อขัดแย้งกันขึ้นระหว่างพระกับพระพระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้เหล่าพระภิกษุที่เป็นพุทธสาวกนำหลักพระธรรมวินัยมาใช้ในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งถือเป็นกระบวนการระงับข้อขัดแย้งของสงฆ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานพระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติให้นำเรื่องไปฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายบ้านเมืองและให้เรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณี“เป็นเงินเป็นทอง”ตามที่เป็นข่าวแต่ประการใด
ซึ่งในกรณีนี้หากคดีความที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และศาลท่านได้พิพากษาให้ฝ่ายที่ฟ้องคดีเป็นผู้ชนะความ โดยให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าเสียหายตามฟ้องให้ด้วย จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามดุลพินิจของศาลและคดีความเป็นที่ยุติ
ประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อก็คือ... ฝ่ายที่ฟ้องคดีจะมีความผิดทางพระวินัยตามศีลข้อ 2 ของปาราชิก คือ ข้ออทินนาทานคือมีเจตนาที่จะลักทรัพย์ของผู้อื่นมีราคาเกินกว่า 5 มาสก(1บาท)หรือมีเจตนากรรโชกทรัพย์ของคนอื่นหรือไม่?! เพราะคนที่ถูกฟ้องร้องคงไม่เต็มใจจ่ายแน่ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นกรณีนี้จะมีความหมายเท่ากับว่าเป็นการบังคับขู่เข็ญใจให้ต้องจ่ายตามองค์ประกอบของความผิดตามกฏหมายในทางโลกหรือไม่?! ศาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัย
ซึ่งในกรณีเช่นเดียวกันนี้หากเป็นชาวบ้านทั่วไป คงไม่คิดอะไรมากนัก อาจจะดีใจด้วยซ้ำที่ชนะคดีและได้เงิน แต่กรณีนี้ท่านมีเพศเป็นพระภิกษุ ท่านมีพระวินัยเป็นเครื่องกำกับในการดำรงชีวิต ท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ชาวบ้านยกย่อง เคารพ นับถือ และน่าจะเป็นผู้ที่ก้าวล่วงความขัดแย้งไปแล้ว เคยคิดบ้างไหมว่า พุทธบริษัททั้งหลายเขาจะมองจะคิดกันอย่างไร?!
ดังนั้น เมื่อมีปัญหาของความขัดแย้งบางกรณีเกิดขึ้นระหว่างพระด้วยกันเอง ท่านก็ควรที่จะนำหลักพระธรรมวินัยมาใช้ในการตัดสินแก้ปัญหาเพราะชาวบ้านต่างเข้าใจว่าท่านน่าจะก้าวล่วงสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่ตามข่าวที่เกิดขึ้น ดูจะตรงกันข้ามกันนะครับ!
ปัจจุบันความขัดแย้งของคนในสังคมนับวันจะมีมากขึ้นตามลำดับ ในเมื่อพระซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ คุณธรรม จริยธรรม ผู้สั่งสอนให้ชาวบ้านและพุทธบริษัทละเว้นซึ่งความโลภ โกรธ หลง สอนให้คนรักใคร่สามัคคีกันเกิดปัญหาขัดแย้งและฟ้องร้องคดีกับพระด้วยกันเองอย่างนี้แล้ว ต่อไปจะไปสอนใครๆ ให้เป็นที่ยอมรับในบทบาทของพระได้อีก
หรือว่า....ตอนนี้พระของเราได้เปลี่ยนบทบาทจากการสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และเปลี่ยนไปเป็นการสอนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลักกฏหมายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองแทนธรรมเสียแล้ว
หรือว่า....พระภิกษุในพระพุทธศาสนายุคสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน เป็นยุคที่ทันสมัย เจริญก้าวหน้าหน้ามากกว่าสมัยพุทธกาล จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย และสามารถหลงลืมหลักธรรมคำสอนอันเป็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนา
ซึ่งจุดเด่นของพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเมธาภรณ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ท่านรวบรวมไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาตอนหนึ่งว่า.....
“พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และขณะเดียวกันให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน”อันเป็นหลักการที่เข้ากับยุคสมัยได้ดีและเป็นสัจธรรม
ดังนั้น “พระฟ้องพระ” แม้จะเป็นการป้องกันสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ใครจะมองอย่างไรก็เป็นสิทธิของท่าน แต่ผู้เขียนเองกลับมองว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นการทำลายหลักการสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเสียมากกว่า.