กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย “ความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมความรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเพื่อพัฒนาผู้ก้าวพลาด” เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุวัตถุประสงค์ของทั้งสองหน่วยงาน โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพร้อมด้วย พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวความเป็นมาของบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เกิดจากคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้มีการศึกษาดูงานร่วมกัน ณ ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จังหวัดระยอง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ สังกัดเรือนจำจังหวัดตราด และทัณฑสถานเปิดทุ่งเบญจา จังหวัดจันทบุรี เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะสวนสัตว์เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงได้เห็นพ้องร่วมกันในการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อพัฒนาผู้ก้าวพลาด ในครั้งนี้
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ร่วมกันดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนับสนุนความรู้ทางวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าแก่เจ้าหน้าที่และผู้ก้าวพลาดของกรมราชทัณฑ์3) ร่วมกันแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ฟื้นฟู และพัฒนาจิตสำนึกผู้ก้าวพลาด ให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่า อันเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า ซึ่งจะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ก้าวพลาด และสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าบริเวณทัณฑสถาน รวมถึงความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมราชทัณฑ์ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการที่ช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกถิ่นกำเนิดในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เรือนจำและทัณฑสถาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกถิ่นกำเนิด และเพื่อประโยชน์ในการแก้ไข ฟื้นฟู แลพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง รวมถึงเป็นสถานที่ให้บริการความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าแก่ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ อันเป็นการสร้างโอกาสและการยอมรับให้แก่ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษในการคืนคนดีสู่สังคม
สำหรับชนิดของสัตว์ป่าที่สามารถให้การสนับสนุนในเบื้องต้น เป็นสัตว์ป่าซึ่งอยู่นอกบัญชีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น อีเห็นธรรมดา กวางรูซ่า วัวแดงสายพันธุ์อินโดฯ ไก่ฟ้าสีทอง และไก่ฟ้าสายพันธุ์ต่างประเทศอื่นๆ เป็นต้น