• เปิดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชนปี 4” ยิ่งใหญ่ ถอดบทเรียนด้านประกันภัย จาก 5 ชุมชน ภายใต้แนวคิด
“เหนือสุดใต้ ตะวันออกสุดตะวันตก” พร้อมช่วยเหลือด้านประกันภัยและเปิดเวทีเพิ่มการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะด้านประกันภัยจากชาวชุมชนทุกระดับ
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้เปิดตัว “โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 4” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยตนพร้อมด้วยนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายนิคม จันคง นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต นางวราภรณ์ วงศ์พินิจวโรดม นายพัฒนศักดิ์ มงคลปัญญา ผู้บริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ลงพื้นที่เปิดตัวโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านประกันภัยเชิงรุกให้แก่ประชาชน ภายใต้แนวคิด “เหนือสุดใต้ ตะวันออกสุดตะวันตก” โดยได้รับเกียรติจากนางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายวัชรเดช เกียรติชานน นายอำเภอบางกรวย กล่าวต้อนรับ
โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 4 กำหนดเป้าหมายลงพื้นที่ 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนบ้านแหลมมะขาม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ชุมชนนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ชุมชนบ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมชนปางห้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยรูปแบบเป็นการถอดบทเรียนด้านประกันภัยที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละชุมชน รวมทั้งการเข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนเพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยแบบครบวงจร มีการนำเสนอข้อมูลด้านประกันภัยที่ประชาชนประสบหรือให้ความสนใจในช่วงเวลานั้น เช่น การประกันภัยไวรัสโคโรนา (Covid-19) การประกันภัยอัคคีภัยที่มีความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมในช่วงเวลาหน้าฝน หรือการประกันภัยไข้เลือดออกที่มักจะเกิดขึ้นภายในชุมชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการลงพื้นที่แต่ละชุมชนจะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากชาวชุมชนเกี่ยวกับความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะได้พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชุมชนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนให้ช่วยคิด พัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดส่งต่อองค์ความรู้ด้านการประกันภัย รวมทั้งร่วมเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในระดับพื้นที่ (Bottom-Up) และทิศทางในภาพรวมของระดับประเทศ (Top-Down)
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 4 จะมีการบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจนกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย และกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ที่จะร่วมลงพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ ตามภารกิจในโครงการฯ รวมทั้งจะมีทีมงานของสำนักงาน คปภ. ในรูปแบบ Insurance Mobile Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เพื่อให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยแบบเคาะประตูบ้านประชาชนในชุมชน ตลอดจนช่วยเหลือด้านประกันภัยเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมประกันภัยอย่างยั่งยืนต่อไป ในขณะเดียวกันได้มีการถ่ายทำเป็นรายการซีรีย์ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อนำไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านประกันภัยในวงกว้างอีกด้วย
“โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 4” เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของการประกันภัย สามารถใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย