นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรถไฟของไทยและมาเลเซียมีความแตกต่างกัน เนื่องจากรถไฟของทั้ง 2 ประเทศ เป็นรถไฟคนละระบบ โดยรถไฟของไทยเป็นรถจักรแบบดีเซลไฟฟ้า ใช้น้ำมันดีเซลปั่นไฟฟ้าบนรถจักร และใช้งานมากว่า 25 ปี ซึ่งมาเลเซียยังมีระบบนี้ใช้อยู่เช่นกัน ขณะที่รถไฟของมาเลเซียเป็นรถไฟฟ้า หรือ Electric Multiple Unit (EMU) รุ่นใหม่ ซึ่งใช้ชื่อทางการว่าขบวนรถ ETS ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าขนาดแรงดัน 25 กิโลโวลต์ ที่รับกระแสไฟฟ้าตรงจากสายส่งด้านบน ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง โดยรัฐบาลมาเลเซียได้เป็นผู้จัดหามาจาก CRRC (China Railway ZhuZhou) เพื่อให้บริการระหว่างสถานี Gemas-KL-Ipoh-Butterworth-Padang Besar ซึ่งได้เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นโครงการนำร่องของการใช้รถไฟประเภทนี้ รถไฟทั้งสองประเภทใช้บนทางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตรเหมือนกัน โดยสามารถใช้สถานีรถไฟร่วมกันได้ที่สถานีปาดังเบซาร์
อย่างไรก็ตามในส่วนของไทย ขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ ด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทยระยะ 8 ปี พร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ มีแผนติดตั้งระบบไฟฟ้าบนเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน และปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ให้สามารถนำขบวนรถในลักษณะเดียวกันกับมาเลเซียมาให้บริการ โดยอาจจะเริ่มโครงการดังกล่าวระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ก่อน
นายวุฒิชาติฯ กล่าวต่อว่า การรถไฟฯ ได้เร่งการลงทุนและพัฒนาระบบราง ด้วยโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 โครงการ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ (นครราชสีมา)-ขอนแก่น ซึ่งคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2561-2562 ส่วนอีก 5 เส้นทางที่เหลือ ได้แก่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร ช่วงมาบกะเบา(แก่งคอย)-ชุมทางถนนจิระ(นครราชสีมา) ระยะทาง 162 กิโลเมตร และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะทยอยเปิดประกวดราคาการก่อสร้างได้ภายในปี 2559 ทั้งหมด
การรถไฟฯ ได้มีการจัดหารถจักร รถโดยสารและรถสินค้ารุ่นใหม่เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด การรถไฟฯ เพิ่งเปิดตัวรถโดยสารรุ่นใหม่ จำนวน 39 คัน จากทั้งหมดที่สั่งซื้อมา 115 คัน ซึ่งการรถไฟฯ ได้สั่งซื้อจาก CRRC (Changchun) เพื่อเปิดให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษ 4 เส้นทาง ระหว่างสถานีกรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-อุบลราชธานี กรุงเทพ-หนองคาย และกรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ เดินทางไป-กลับวันละ 2 ขบวนต่อเส้นทาง โดยจะประเดิมเปิดให้บริการได้เส้นทางแรกกรุงเทพ-เชียงใหม่ ภายในปีนี้
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังได้จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า ขนาดน้ำหนักเพลา 20 ตันต่อเพลา มาใช้งานแล้ว จำนวน 20 คัน รวมถึงรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้ารุ่นใหม่จำนวน 308 คัน ได้มาถึงท่าเรือแหลมฉบังแล้ว 150 คัน และกำลังจะมาถึงอีก 158 คัน ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการรับส่งตู้สินค้าระหว่างไอซีดีลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง และ CY ในภูมิภาค-ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งเสริมแผนยุทธศาสตร์ระบบโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม