ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคสังคม ชุมชน และท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านการเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ประกอบการด้านดิจิทัล (Digital Provider) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ โดยในปี 2563 ดีป้า ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในชนบทประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจำนวน 193 ชุมชน
ล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ครั้งที่ 7/2563 มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชนบท (depa Digital Transformation Funds for Community) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และน่าน จำนวน 9 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตรในรูปแบบโรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจบ้านป่าเปา จังหวัดเชียงใหม่ 2. โครงการระบบให้น้ำอัจฉริยะและพลังงานทดแทนเพื่อโรงเรือนเพาะเห็ด โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดปลอดสาร ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 3. โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะด้วย IoT สำหรับไร่มะนาว โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน 4. โครงการโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์วิสาหกิจเกษตรธรรชาติลีซูโดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ 5. โครงการโดรนเพื่อการเกษตรสมาร์ทฟาร์มแม่วาง โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวโพดหวานสมาร์ทฟาร์ม อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
6. โครงการโดรนเพื่อการเกษตรเกษตรกรฝาง โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวโพดหวานสมาร์ทฟาร์ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 7. โครงการแอปพลิเคชันส่งเสริมการปลูก การเกษตรที่มีมาตรฐานในยุคดิจิทัล โดยวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยจากสารพิษบ้านไผ่งาม อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 8. โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการการปลูกและตลาดเกษตรกร เพื่อการเกษตรในยุคดิจิทัล โดยวิสาหกิจชุมชนพืชผักและผลไม้อบแห้งบ้านแหน 2 อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 9. โครงการระบบบริหารจัดการไข่ไก่เพื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรกรบ้านนาหึก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
"ดีป้า มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งชุมชนจะเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองจากรายการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน หรือได้รับการรับรองโดยสำนักงานฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ และวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมก่อนนำไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0"