ไล่ตามกันมาเหมือนเป็นเงาตามตัวระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับกรุงเทพมหานคร เรียกได้ว่าเกาะติดหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียวในแง่ของการติดตามตรวจสอบการทำงาน โดยมุ่งไปที่การใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมาสองหน่วยงานนี้ก็ออกมาตอบโต้ ชี้แจงกันมาหลายยก หลายโครงการ ล่าสุดเส้นทางจักรยานกทม.กำลังกลายเป็นเรื่องใหม่ อีกเรื่องที่ชวนให้ติดตามว่าแรงเขย่ารอบนี้จะสะเทือนเสาชิงช้าแค่ไหน???
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ทบทวนและปรับปรุงแก้ไขโครงการก่อสร้างพัฒนา และปรับปรุงเส้นทางจักรยานของ กทม. เนื่องจากพบปัญหาเรื่องการใช้ และเรื่องของความคุ้มค่าของงบประมาณ โดยสตง.ได้ตรวจสอบและประเมินผลออกมา อาทิ บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เนื่องจากเส้นทางจักรยานในแต่ละวัน พบว่ามีผู้ใช้ประโยชน์น้อย อีกทั้งยังพบว่านักท่องเที่ยว นักปั่นจักรยาน ส่วนใหญ่จะนิยมปั่นในเวลาค่ำ และไม่ได้ปั่นอยู่ในเลนของจักรยาน
ทั้งบางเส้นทางรุกพื้นที่ผิวจราจร ไม่เหมาะสมบางเขตที่จราจรคับคั่งทำให้รถติด หากจะดำเนินการทำต้องช่องพิเศษ และสะดวกกว่านี้ ในส่วนของความปลอดภัย เเห็นว่าควรจะทำเลียบแม่น้ำลำคลองมากกว่าการมาทำบริเวณถนนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยได้ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะไปพิจารณา แต่สตง.ตรวจสอบ และประเมินผลแล้วออกมาอย่างนี้ บางเส้นทางควรจะยกเลิกโดยเฉพาะเส้นทางที่การจราจรหนาแน่น ส่วนที่ยังไม่ได้ทำก็ควรจะทบทวนว่าคุ้มค่าหรือไม่
" หากหลังจากนี้กทม.ไม่ดำเนินการตามคำแนะนำก็ไม่เป็นไร ก็รับผิดชอบไป แต่สตง.มองเรื่องการใช้งบประมาณว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ โดยคำนึงถึงผลกระทบถ้าคิดว่าคนส่วนใหญ่ชอบก็ทำไปเถิด การยกเลิกอาจสร้างความไม่พอใจให้ผู้ใช้จักรยาน เพียงแต่ราเสนอความเห็นว่าคนที่เขาขี่จักรยานเขาน่าจะลองพิจารณาดูด้วย เพราะบางเส้นทางเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ สุดท้ายถ้าทำมาแล้วเลิก ก็จะกลายเป็นที่จอดรถซึ่งเรามีเหตุผล " ผู้ว่าฯสตง.กล่าว
อย่างไรก็ตามพบว่าสตง. ทำหนังสือถึงร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ให้ทบทวนปรับปรุงแก้ไขโครงการก่อสร้างพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางจักรยานกทม. เพราะพบปัญหา ทั้งยังพบความไม่คุ้มค่าของเงินปรับปรุงกว่า 28 ล้านบาท ซึ่งสตง. ยังระบุว่าโครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานก่อสร้างไปแล้ว 54 เส้นทางในถนนสายหลัก รวมระยะทาง 364.54 กิโลเมตร ขณะที่ในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 ได้ปรับปรุงเส้นทาง 6 เส้น รวมระยะทางประมาณ 49.69 กิโลเมตรใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 54.99 ล้านบาท เสร็จแล้ว 5 เส้นทาง เหลืออีก 1 เส้นทาง
จากการตรวจสอบสตง. ตั้งข้อสังเกตว่าเส้นทางจักรยานที่ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 2 เส้นทาง (17 ถนน) ส่วนใหญ่เป็นถนนหลักสายในเมือง เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุฯส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ดำเนินการปรับปรุงรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 28.13 ล้านบาท ในขณะที่บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด เนื่องจากเส้นทางจักรยานในแต่ละถนนส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยาน หรือมีผู้ใช้ประโยชน์น้อย ประมาณ 5-10 รายต่อวันและอาจมีเพียงช่วงเช้าหรือช่วงเย็น
นอกจากนี้พบว่าเส้นทางจักรยานวงเวียนใหญ่ไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนด การออกแบบติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ก็อาจเกินความจำเป็นเพราะติดตั้งหลักพลาสติกล้มลุกสะท้อนแสงอยู่แล้วไม่ประหยัดงบ 3.41 ล้านบาท ดังนั้นจึงเห็นว่าโครงการทางจักรยานมีปัญหาจะผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่สอดคล้องวิถีชุมชน ส่งผลให้การดำเนินงานกทม.ไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ใช้จ่ายเงินโดยไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แจ้งและข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าฯกทม. ทบทวน ปรับปรุงแก้ไข และแจ้งผลการดำเนินการให้สตง.ทราบด้วย
ขณะที่นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้รับผิดชอบโครงการทางจักรยานของกทม. ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ โดยบอกว่า ยังไม่เห็นหนังสือของสตง.ที่ส่งมา ซึ่งมีการส่งไปยังสภากรุงเทพมหานคร แต่ขณะนี้สภากทม.ยังไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเพราะเป็นช่วงเว้นการประชุมหนึ่งเดือน ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการเรื่องจักรยาน 3 ลักษณ์ นั่นคือ การให้ประชาชนนำจักรยานไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยการยืม การเปิดทางพิเศษให้นำจักรยานใช้เดินทาง หรือพักผ่อนโดยการเช่า และการเปิดช่องทางพิเศษเฉพาะจักรยาน ที่ห้ามรถชนิดอื่นเข้ามาใช้ร่วมทาง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของกองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.จร.ว่าพื้นที่ เส้นทางไหนเหมาะสม
ส่วนที่สตง.บอกว่าทางจักรยานรุกล้ำผิวจราจรนั้น รองผู้ว่าฯกทม. ยอมรับว่าทางจักรยานล้ำลงไปบนพื้นผิวจราจรจริง เพราะปกติเปิดให้ใช้บนทางเท้า หรือฟุตบาท แต่ส่วนใหญ่ทางเท้าในกทม.จะแคบ ทำให้บางเส้นทางจักรยานล้ำลงผิวจราจร ซึ่งกรณีนี้กทม.ได้ร่วมกับ บก.จร.ในการบังคับใช้เส้นทางไหนที่เหมาะสมในการใช้เป็นเส้นทางจักรยานโดยขณะนี้มีการทดลองกันอยู่ ทั้งนี้ยังมีความกังวลที่สตง.ออกมาอาจเป็นการชี้นำโครงการในเรื่องอื่นๆด้วย ยืนยันทำงานออกแบบโครงการให้เป็นประโยชน์สูงสุด หากโครงการไม่เหมาะสมก็จะแก้ไข แต่กทม.จะต้องฟังหน่วยงานอื่นๆของรัฐ รวมทั้งประชาชนด้วย โดยเรื่องงบประมาณจะมีระเบียบวินัยในการใช้อยู่
และประเด็นสำคัญคือเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งสตง.เห็นว่าเส้นทางจักรยานที่กทม.ทำอยู่ ไม่มีความคุ้มค่า สูญเสียงบประมาณ แต่นายอมร อธิบายเรื่องนี้ในด้านตรงกันข้ามว่า กทม.ไม่ได้มองเรื่องความคุ้มค่าของเงินงบประมาณ เพราะหลายโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. ทำนั้นภาคเอกชนไม่ทำ เพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับการลงทุน แต่สำหรับกทม.จะมองว่าการใช้เงินลงทุนไปแล้ว แต่ประชาชนไม่ใช้ คือความไม่คุ้มค่ามากกว่า เพราะอปท.จะมองในเรื่องการอำนวยความสะดวกและประชาชนก็มีสิทธิเลือกใช้ หากประชาชนเลือกใช้และพอใจ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ