นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส) กล่าวภายหลังเป็นประธานกล่าวเปิดงานการประชุมวิชาการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประจำปี พ.ศ.2563 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ "ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน"ว่า สืบเนื่องจากได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ในทั่วโลก ส่งผลให้การดำรงชีวิตในประจำวันและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในแบบวิถีชีวิตใหม่
ดังนั้นจากนี้ในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนจะต้องมีความระมัดระวังในการดำรงชีวิตและจะต้องคำนึงถึงควาสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษยชาติ อีกทั้งในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำเป็นจะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับการดำเนินงานของ สผ. ที่ผ่านมาได้มีความมุ่งมั่นที่จะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป โดยผลการดำเนินงานของ สผ. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถผลักดัน และมีผลการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
1. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ซึ่งปัจจุบันได้จัดคนลงในพื้นที่เป้าหมายแล้ว จำนวน 54,406 ราย ใน 255 พื้นที่ 65 จังหวัด ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแล้ว 176 พื้นที่ 60 จังหวัด นอกจากนี้ ยังผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาเป็นเรื่องเร่งด่วนตามแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของ คทช. โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 9 คณะ
2. กองทุนสิ่งแวดล้อม โดยผลจากการดำเนินงานทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในด้านการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการป้องกันมลพิษ เช่น การบำบัดน้ำเสีย 2,190 ล้านลูกบาศก์เมตร การอนุรักษ์และป้องกันป่าไม้ 2.64 ล้านไร่ การให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะต้นทาง ระยะที่ 1-2 แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เกิดเป็นชุมชนต้นแบบ จำนวน 595 แห่ง และในปี พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดี สาขาคุณภาพการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม กรณีโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพป่าใหญ่โคกจิก-ตาลอก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
3. การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองไปแล้ว จำนวน 10 ฉบับ รวม 12 จังหวัด โดยแบ่งเป็นประกาศกระทรวงฯ จำนวน 8 ฉบับ และกฎกระทรวง จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 ได้มีการขยายประกาศพื้นที่เดิม จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ถนนต้นยางนา ขี้เหล็ก จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีประกาศฉบับที่ 2 จำนวน 1 ฉบับ คือ จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2563 ได้มีการออกประกาศฉบับใหม่ จำนวน 1 ฉบับ เพื่อทดแทนฉบับเดิม คือ พื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี โดยจะสิ้นสุดวันที่ 24 กรกฎาคม 2563
4. การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สผ. ได้พิจารณาคัดเลือกสถานที่สำคัญควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก ด้วยการเสนอผืนป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก รวมถึงผลักดันการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (1) เมืองโบราณศรีเทพ (2) กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด เป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งขณะนี้ สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการมรดกโลก ตลอดจน สผ. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม
5. ด้านความหลากหลายชีวภาพ สผ.ขับเคลื่อนงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หลังปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อมุ่งสู่วาระการผลิตที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และวิสัยทัศน์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2050 "มีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ" รวมถึงผลักดันพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เพื่อขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2,420 ของโลก ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 นอกจากนี้ได้ดำเนินการกำกับโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่คุ้มครองในอาเซียน เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผลักดันอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม – เขตห้ามล่า หมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอุทยานมรดกอาเซียนลำดับที่ 45 และ 46 และอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอให้อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งต่อไป
6. การดำเนินงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Change) โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุม COP 25 โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2562 สำหรับข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งใน ปี 2561 สามารถลดได้ 57.84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นร้อยละ 15.76 จากมาตรการสาขาพลังงาน รวมถึงการได้เข้าร่วม NDC Partnership ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน NDC และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
7. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้บริการประชาชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ดังนี้
Smart EIA มีการเปิดใช้งานระบบฐานข้อมูล EIA ทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน Web Services และ Mobile Application “SMART EIA” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น
Smart E-Fund เป็นระบบฐานข้อมูลของกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน รองรับการใช้งานผ่าน Website และ Mobile Application โดยนำมาใช้ยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่มีความสนใจ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็วลดขั้นตอน รวมถึงมีความถูกต้องและแม่นยำ
TH-BIF หรือ Thailand Biodiversity Information Facility คือ ระบบเครือข่ายที่รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงและเรียกดูได้ ณ จุดเดียว (single window)
TGEIS หรือ ระบบสารสนเทศการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เป็นระบบที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียทั้งด้านงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบฯ จึงทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้ง 5 ภาคส่วน ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน