นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเปิดศูนย์ไตเทียมเทศบาลเมืองชัยภูมิ ว่า การเปิดศูนย์ไตเทียมของเทศบาลนครชัยภูมิ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษา ลดการเดินทางไปยังโรงพยาบาล ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลรัฐได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังทั่วประเทศประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน และมีผู้ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย สาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดระบบบริการโรคไตวาย ทั้งการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านหน้าท้อง เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะและศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และมีคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลชุมชนจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวม โดยทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และโภชนากร ค้นหาความเสี่ยงโรคไตวายได้อย่างรวดเร็ว ช่วยยืดระยะเวลาไตเสื่อมไปได้อีก 7 ปี รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพ ลดโรค NCDs ลดภาวะแทรกซ้อนและการเกิดโรคไตวาย
"การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายไตจำนวนมาก แต่มีผู้บริจาคไม่มาก ผู้ป่วยต้องรอนานจนบางรายเสียชีวิตไปก่อน จึงขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างกุศล คืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วย" นายอนุทินกล่าว
สำหรับจังหวัดชัยภูมิ มีโรงพยาบาลชัยภูมิให้การดูแลผู้ป่วยโรคไตครบวงจร และมีโรงพยาบาลชุมชนอีก 5 แห่ง เป็นเครือข่ายให้บริการ มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องล้างไตทางหน้าท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมประมาณ 1,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ได้สนับสนุนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคไตไปให้บริการที่ศูนย์ไตเทียมของเทศบาลเมืองชัยภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชัยภูมิ มีเตียงบริการ 24 เตียง วันละ 3 รอบ เปิดให้บริการวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 05.00 ถึง 18.00 น. ให้บริการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคไต กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง กลุ่มป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มีพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลที่ผ่านการอบรมการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และมีทีมอาสาสมัครสาธารณสุข ทีมจิตอาสาในชุมชนที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยไตวายคอยดูแลช่วยเหลือ