เป็นเรื่องเป็นราวให้ชวนตั้งคำถามชวนสงสัยอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล หรือฝ่ายบริหารประเทศไม่ว่ายุคสมัยใด ซึ่งเมื่อปรากฏข้อมูลออกมาแล้ว บางเรื่องก็เงียบหายเข้ากลีบ บางเรื่องก็มีการชี้แจงจนคลายข้อสงสัย เช่นเดียวกันบางเรื่องก็ยังเป็นที่ค้างคาใจ แม้จะมีคำอธิบายออกมาอย่างไร แต่กระนั้นก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงยากที่จะทำใจให้ยอมรับได้โดยปราศจากข้อกังขาใดๆ
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาบอกว่า กระบือไทยเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสําคัญต่อเกษตรกรตลอดมา เป็นส่วนหนึ่งในระบบการผลิตการเกษตรที่มีการเพาะปลูกเป็นรายได้หลัก แต่ปัจจุบันสถานการณ์กระบือและผู้เลี้ยงกระบือลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทํานา มีการใช้รถไถนาแทนการใช้แรงงานกระบือ จึงขายกระบือทิ้งเข้าโรงฆ่า และที่ยังเลี้ยงอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลี้ยงเป็นอาชีพ จึงไม่ความสนใจการเลี้ยงดู ปรับปรุงพันธุ์ ป้องกันโรค ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้กระบือในประเทศสูญพันธุ์
ขณะที่นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปุสัตว์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งด่วนแก้ปัญหากระบือสูญพันธุ์ จึงทำโครงการพัฒนาการผลิตกระบือเพื่อการอนุรักษ์ โดยติดไมโครชิพกระบือเพศเมียทั่วประเทศที่ร่วมโครงการโดยติดตั้งที่โคนหางด้านขวาเพื่อเป็นเครื่องยืนยัน กระบือมีแหล่งที่มาที่ใด ใครเป็นเจ้าของ ตรวจรักษาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไว้หรือไม่ และเป็นการช่วยตรวจสอบหากลักขโมย หรือขนส่งกระบือผ่านจุดตรวจ จุดสกัดกักกันสัตว์ตามที่ต่างๆ ซึ่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 ได้ติดไมโครชิพกระบือของธนาคารโคกระบือ และของเกษตรกรทั่วประเทศ 136,000 ตัว ให้แล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2559 และขยายถึงสิงหาคม 2559 เป็น 583,146 ตัว
ต่อมามีการพบว่ากรมปศุสัตว์ ใช้งบประมาณเกือบ 100 ล้านดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์และพัฒนาพันธุ์กระบือไม่ให้สูญหายด้วยการฝั่งไมโครชิพ โดยจัดซื้อจากเอกชนอันละ 100 บาท ปรากฎว่ามีเอกชนเพียงรายเดียวเป็นคู่สัญญาจัดซื้อไมโครชิพ และเครื่องอ่านไมโครชิป คือบริษัท เค เคมิเคิล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด นี่จึงเป็นที่มาของคำถาม ถึงการจัดซื้ออาจไม่โปร่งใส เนื่องจากจัดซื้อจากเอกชนรายเดียว และให้สำนักงานปศุสัตว์แต่ละเขตเป็นผู้จัดซื้อ อาจจะใช้งบประมาณมาก ไมโครชิพอาจสูญหายหรือไม่ ทั้งเครื่องอ่านยังมีราคาสูง
ด้านนายชาคริต ภูมิศรีจันทร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเคลื่อนย้าย กองสารวัตรและกักกัน จ.ปทุมธานี พยายามอธิบายว่า การจัดซื้อไมโครชิพดำเนินการตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กระบือใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านบาท โดยงบฯส่วนหนึ่งจัดซื้อไมโครชิพฝังบริเวณโคนหางกระบือ 500,000 ตัว จากพันธุ์กระบือที่มีอยู่ทั่วประเทศ 800,000 ตัว ค่าไมโครชิพอันละ 100 บาท ส่วนหนึ่งเป็นค่าระบบซอฟแวร์ฐานข้อมูลกระบือเชื่องโยงไมโครชิพ และเครื่องอ่านไมโครชิพ โดยเป็นอำนาจของสำนักงานปศุสัตว์แต่ละเขตเป็นผู้จัดซื้อ
ในขณะที่ข้อมูลจากฝ่ายเจ้าหน้าที่จัดซื้อ มีออกมาว่า การจัดซื้อไมโครชิพ เป็นอำนาจสำนักงานปศุสัตว์แต่ละพื้นที่ใน 9 เขต จัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนราชการ เครื่องอ่านไมโครชิพงบประมาณ 2558 จัดซื้อแบบเคลื่อนที่ 125 เครื่องราคาเครื่องละ 50,000 บาท ปี2559 ซื้อ 230 เครื่องราคาเครื่องละ50,000 บาท ส่วนที่ผู้ชนะประกวดราคาแต่ละสำนักงานเขตเป็นรายเดียวกัน เพราะจัดซื้อโดยวิธิอิเลคทรอนิกส์ (อี-บิ้งดิ้ง) มีผู้รับเอกสารหลายราย แต่ท้ายก็มีเสนอราคารายเดียว สาเหตุคงเป็นเรื่องเงินที่ต้องวางหลักประกัน 5% และบริษัทดังกล่าวเป็นคู่ค้าเดิมกับกรมอยู่ก่อนแล้วดังนั้นทุกอย่างโปร่งใสแน่นอน
อย่างไรก็ตามมีรายงานบอกว่ากรมปศุสัตว์ ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 98,150,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการความมั่นคงทางอาหารด้านปศุสัตว์ และเป็นโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ 83,100,000 บาท สำนักงบประมาณได้อนุมัติเมื่อ 26 พ.ค.2558 โดยก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งให้ปศุสัตว์จังหวัดทราบและควบคุมเร่งรัด การเบิกจ่ายเงินในโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ ได้ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องอ่านไมโครชิพ แบบเคลื่อนที่ 125 เครื่อง วงเงิน 6,250,000 บาท เมื่อ 3 ก.ย. 2558 และจัดซื้อเครื่องอ่านไมโครชิพ แบบเคลื่อนที่อีก 230 เครื่อง วงเงิน 11,477,000 บาท เมื่อ 30 ธ.ค. 2558 โดย บริษัท เค เคมิเคิล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นคู่สัญญา และพบว่าบริษัท เค เคมิเคิล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นคู่สัญญาจัดซื้อไมโครชิพอีกหลายพื้นที่ และมีการโอนงบประมาณปี 2558 เป็นค่าจัดซื้อไมโครชิพ ให้หน่วยงานในสังกัด 8 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ และนครพนม