นายไพฑูรย์ กุหลาบแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพองค์กร การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โครงการพี่เลี้ยงระหว่าง MEA กับองค์การตลาด (อต.) เพื่อยกระดับคุณภาพรัฐวิสาหกิจไทย ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ณ ห้องสัมมนา ชั้น 12A สำนักงานใหญ่ คลองเตย
MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นภารกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รองรับกับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า การบริหารงานองค์กรและการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการตรวจสอบและควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างต่อเนื่อง มีความยินดีและพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ และ Best Practice ให้แก่องค์การตลาด (อต.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจไทยตามนโยบายการดำเนินโครงการพี่เลี้ยงของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน MEA ได้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยง (Coaching) ให้กับ อต. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้คำปรึกษา แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ทั้งแนวคิดหลักในการบริหารจัดการองค์กร การออกแบบกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จ สู่การเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ MEA ได้ขยายความร่วมมือเป็น 8 ด้าน ประกอบด้วย
1. การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร
2. การวางแผนเชิงกลยุทธ์
3. การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน
4. การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และลูกค้า
5. การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
6. การบริหารทุนมนุษย์
7. การจัดการความรู้และนวัตกรรม
8. การตรวจสอบภายใน
โดยมุ่งให้องค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในเกณฑ์การประเมินผลใหม่ มีการศึกษาวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการปรับปรุงพัฒนาระบบงาน กระบวนงานตาม Core Business Enablers ระยะยาว อีกทั้งมีแผนปฏิบัติการรายปีการออกแบบกิจกรรมและกระบวนการทำงาน นอกจากนี้ ในปี 2563 MEA ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจและการสร้างรายได้ ที่นอกเหนือจาก Core Business Enablers ประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ
1. มุ่งเน้นการวิเคราะห์สภาพปัญหาทางธุรกิจ การดำเนินของ อต.และผลกระทบ เพื่อนำไปสู่การคิดหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง
2. มุ่งใช้ประโยชน์จาก Core Competency ของ MEA มาส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของ อต. อันนำไปสู่การดำเนินงานร่วมกันแบบ Win-Win
ผลการดำเนินงานในปี 2563 นี้ จะทำให้เกิดแผนงานรวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง MEA และ อต. ในการช่วยแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของ อต.ได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น ระบบ QR Code Cross Bank ที่ MEA ได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว จะช่วยให้ระบบการรับชำระเงินและการทำงานของ อต. มีประสิทธิภาพมีความคล่องตัว ลดระยะเวลาขั้นตอนในการทำงาน จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ อต. เป็นองค์กรที่มั่นคงนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต