พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม. เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานวินัยข้าราชการกับผู้ที่พ้นข้าราชการ ที่หมายถึงข้าราชการพลเรือนที่ทำผิดสมัยที่รับราชการอยู่ แต่พ้นราชการ ลาออก หรือเกษียณอายุราชการแล้วไม่สามารถเอาผิดได้ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ คือ พ.ร.บ.การป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 และกฎหมายตามที่ข้าราชการสังกัดอยู่ แต่กฎหมายดังกล่าวมีความลักลั่นกันเอง ฉะนั้นจึงกำหนดให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน 2 หลักเกณฑ์
1.ถ้ามีการดำเนินการกระทำผิดสมัยรับราชการแล้วคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น (ปปช.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ชี้มูลความผิดทางวินัย และลงโทษตามที่ชี้มูลจะไม่นำกฎหมายที่ข้าราชการผู้นั้นสังกัดอยู่มาบังคับใช้ 2. เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้นสังกัดตรวจพบว่าข้าราชการในสังกัดทำความผิดสมัยที่รับราชการ ให้กำหนดวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ 2.1.สอบสวนภายใน1 ปีนับตั้งแต่พ้นราชการ 2.2.สั่งลงโทษต้องทำภายใน3 ปีนับตั้งแต่พ้นราชการ
อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นหากมีการไปร้องศาลปกครองแล้วพบว่ามีความผิดกรณีอื่นๆเกิดขึ้น แม้ว่าจะถูกลงโทษครบ3 ปีก็สามารถลงโทษได้อีกภายใน3 ปีนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด “ นี่เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจที่จะให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ หรือพ้นจากราชการไปแล้วก็ตาม คุณต้องเป็นข้าราชการที่ดี ทำเพื่อชาติ และประชาชน ถ้าประพฤติมิชอบ เราจะตามล้างตามเช็ดท่านไม่ว่าจะอยู่ หรือพ้นราชการไปแล้ว ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว