สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีเปิดเผยรายชื่อผู้เกี่ยวข้องร่วมกระทำผิดกรณี “การสอบสวนล้มคดีบอส” และเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ให้มีมาตรฐานสากลป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ มีรายละเอียดดังนี
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาตัวเจ้าพนักงานของรัฐผู้ร่วมกระทำผิดในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่มิชอบช่วยให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา พ้นจากการถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายแล้วหลบหนีซึ่งตำรวจผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ได้มีการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานคดีนี้เป็นระยะๆ ตลอดมา จนกระทั่งทำให้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง โดยมี ศ.ดร.วิชา มหาคุณ เป็นประธานฯ ซึ่งเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ศ.ดร.วิชาฯ ได้นำผลการตรวจสอบไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลและออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนส่วนหนึ่งแล้วนั้น
เนื่องจากการแถลงข่าวประกอบเอกสารที่เผยแพร่ดังกล่าว แม้จะมีการยืนยันถึงการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทนายความ และพนักงานอัยการว่าได้ร่วมกันทำเป็นขบวนการ และเสนอให้มีการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรงกับข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องทุกคน แต่กลับไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนได้ทราบว่า มีใครบ้างเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดที่สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงดังกล่าว และรัฐบาลจะดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจ งานสอบสวนและงานพิสูจน์หลักฐานเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีกอย่างไร
จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้
๑. เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ประชาชนได้ทราบว่า บุคคลทั้ง ๘ กลุ่มที่ถูกระบุว่าร่วมกันกระทำความผิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนดังกล่าว มีผู้ใดบ้าง แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่อะไรและมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดอาญาหรือวินัยร้ายแรงอย่างไรบ้าง
๒. สั่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้เป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีนี้ และรีบดำเนินการออกหมายเรียกผู้ที่มีหลักฐานการกระทำผิดตามรายงานดังกล่าวเป็นผู้ต้องหา หรือเสนอศาลออกหมายจับ และรีบจับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายเหมือนกรณีการดำเนินคดีอาญากับประชาชนผู้กระทำความผิดในคดีต่างๆ สรุปเสนอให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลโดยเร็ว
๓. ใช้อำนาจทางการบริหารดำเนินการทางปกครองในเบื้องต้นทันที โดยสั่งให้ผู้ร่วมกระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนออกจากราชการไว้ก่อน หรือพักราชการ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น และเป็นการส่งสัญญาณถึงความเด็ดขาดจริงจังของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
๔. เร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจ งานสอบสวน และงานนิติวิทยาศาสตร์ ในเบื้องต้นเพื่อป้องกันการทุจริตบิดเบือนคดีหรือประพฤติมิชอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดย
๔.๑ นำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการสอบสวน ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว
๔.๒ แก้ปัญหางานนิติวิทยาศาสตร์และการพิสูจน์หลักฐานที่อยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีระบบการปกครองแบบมีชั้นยศและวินัยแบบทหาร ด้วยการทำให้เป็นข้าราชการพลเรือน สร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยตราพระราชกฤษฎีกาโอนสถาบันนิติเวชและสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ไปเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมตามหลักสากลแทน