ปัจจุบัน ถั่วลิสงเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรตามนโยบายของภาครัฐที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทดแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
โดยถั่วลิสงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ ซึ่งต้นถั่วและเปลือกยังช่วยปรับสภาพดินทำให้ดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ถั่วลิสงยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งผลสดและแปรรูป โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสงที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับแหล่งเพาะปลูกถั่วลิสงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกถั่วลิสง
นางคมคาย ปุ๋ยตากทอง ฝ่ายการตลาดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปถั่วลิสงบ้านหนองโน ฝ่ายการตลาดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปถั่วลิสงบ้านหนองโน หมู่ 2 ตำบล กุดจับ อำเภอ กุดจับ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในอดีตสมเด็จพระศรีนครินทร์พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยี่ยมราษฎร ณ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ.2521 ทรงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้ง – หลังการเก็บเกี่ยวและประทานถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 จำนวน 20 ต้น และกระเกษตรกรได้รวมกลุ่มปลูกเมื่อมีผลผลิตมากทำให้ราคาถูก
สำนักงานเกษตรอำเภอกุดจับ จึงได้สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองโนขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อแปรรูปถั่วลิสงแบบพื้นบ้านจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ในปี พ.ศ.2538 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับ ดร.วิชัย หฤทัยธนาสันต์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดอบรมและพัฒนาคุณภาพถั่วลิสงคั่วทรายปลอดอะฟลาท็อกซิน
โดยถั่วที่ใช้เป็นถั่วพันธุ์ไทนาน 9 มีรสชาติความหอมหวานมัน อีกทั้งมีลักษณะเด่นคือเป็น 2 ข้อและผิวเกลี้ยง ประกอบกับเกษตรกรจังหวัดได้ตรวจดูพบว่า ดินที่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเหมาะแก่การปลูกถั่วพันธุ์นี้เป็นอย่างมาก พันธุ์ไทนาน 9 ยังเป็นพวกสแปนนิช ปลูกแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน มี 2 เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีชมพู เมล็ดมีขนาดประมาณ 40 กรัม/100 เมล็ด
“เราจึงได้รับถั่วที่ชาวบ้านปลูกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมมีลักษณะเด่นใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน โดยการคัดเลือกเมล็ด ทำให้ปลอดสารอะฟาลท็อกซิน และมีการตรวจสอบคุณภาพ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีกำลังการผลิตผลิตได้ 4,000 – 5,000 ถุงต่อเดือน” คมคาย กล่าว
นางคมคาย บอกอีกว่า กระบวนการทำจะต้องมีการนำทรายมาล้างให้ขาวเสียก่อน ด้วยการใส่น้ำลงไปแล้วล้างทำอย่างนี้ประมาณ 5 รอบ ตากแดดก่อนจะเอามาคั่วให้ร้อนจึงเอาถั่วลงได้ โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองโนได้มีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมข้อมูลทุกกระบวนต่างๆไว้ในรูปแบบของเอกสาร เช่น ประวัติความเป็นมา ขั้นตอนและวิธีการต่างๆ เป็นต้น การถ่ายทอดความรู้และการใช้ประโยชน์
ซึ่งปัจจุบันมีการทำผลิตภัณฑ์จากถั่วถึง 3 ประเภท คือถั่วคั่วทราย ถั่วตัดและถั่วทอด โดยใช้ถั่วพันธุ์ไทนาน 9 ในการทำทั้งหมดโดยจะคัดไซส์ของถั่วเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยถั่วคุณภาพเกรด A จะถูกทำเป็นถั่วคั่วทราย ส่วนเกรดไม่ดีก็จะทำให้เป็นถั่วตัด หรือถั่วทอด สามารถสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านถึงปี 140,000 บาท แม้ช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 3 เดือนที่ผ่านมา จะสร้างผลกระทบบ้าง แต่ก็ยังสร้างรายได้มากกว่า 60,000 – 70,000 บาท