เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์
การสอบสวนในทางลับของ ป.ป.ช.
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ช่วงนี้การเมืองใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังพิจารณางบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณางบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในห้วงเวลาโรคโควิท-19 ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ขณะที่เขียนอยู่นี้ ทราบว่ารัฐบาลให้ชะลอการจัดซื้อไปแล้ว ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีก็มีสิทธิที่จะทราบและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณได้
ว่าของเราต่อนะครับ ถามว่า ป.ป.ช.เขามีตรวจสอบทางลับมั้ย ตามระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวนกำหนดให้มี โดยที่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือสำนักงานได้รับแจ้งว่า การจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณมีการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ระเบียบกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ลงทะเบียนรับแจ้งในสารบบและทำความเห็นเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งการ ทั้งยังรวมถึงกรณีถ้ามีเรื่องปรากฏต่อกรรมการหรือมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์ข้างต้นก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน และจะเปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งไม่ได้เด็ดขาดนะครับ
ส่วนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าเป็นเรื่องอะไรนั้น ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่า เป็นเรื่องการห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันคือ เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่กำหนดจ่ายตามกฎหมาย อย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำได้
นอกจากนั้น ในการพิจารณาเสนอหรือแปรญัตติหรือกระทำด้วยประการใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายก็ทำไม่ได้ แล้วถ้าหากกลุ่มคนประเภทนั้นไปทำการฝ่าฝืนขึ้นมา ทีนี้ละครับรัฐธรรมนูญให้มีการยื่นถอดถอนได้เลย
โดยมาตรานี้เองกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืน โดยมีส่วนทั้งทางตรงทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายขึ้นมา พูดง่ายๆ ทำนองว่า ชงเองกินเองครับ ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทําที่ฝ่าฝืนเรื่องมีส่วนโดยตรงโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายนั้น ก็ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล รวมถึงต้องพ้นสมาชิกสภาพของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้ว แต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีก
เมื่อดูเรื่องข้างต้น หลายท่านอาจสงสัยว่า มันเกี่ยวกับ ป.ป.ช.หรือหน่วยงานท้องถิ่นอย่างไร เพราะจะเป็นเรื่องของนักการเมืองระดับชาติกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งนั้น ซึ่งถ้าดูมาตรา 144 ต่อไปแล้ว ในวรรคสี่ได้พูดถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นแล้วครับโดยเขียนไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด”จัดทําโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณ โดยรู้ว่ามีการดําเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาร่างงบประมาณหรือมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณเหมือนที่กล่าวข้างต้นเช่นนักการเมืองระดับชาติแล้ว ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ ให้พ้นจากความรับผิด และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับแจ้งเช่นว่าแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดําเนินการต่อไป และยังกำชับการรักษาความลับ
โดยไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ หรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้ ตรงนี้ละครับท่านผู้อ่านที่ ป.ป.ช.เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสอบสวนทางลับตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. แปลความง่ายๆ กฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดนิยามคำว่า“เจ้าหน้าที่ของรัฐ”ไว้ ซึ่งหมายรวมถึงบรรดาข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่นผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอีกหลายประเภท
ดังนั้นแล้ว ท่านผู้อ่านที่เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองทั้งหลาย รวมทั้งสมาชิกก็อยู่ในวงจรนี้เช่นกัน ที่ต้องระมัดระวังไว้ด้วยว่า ถ้าท่านเป็นผู้จัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณ หากฝ่าฝืนโดยการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมรายการจำนวนรายการ รวมถึงเข้ามีส่วนโดยตรงโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายแล้ว ป.ป.ช.ก็จะสอบสวนทางลับ และหากมีมูลก็จะเสนอความเห็นส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนหรือดำเนินการทางวินัย ถ้าเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือถ้าเป็นเรื่องความเสียหายอาจถูกเรียกเงินคืนภาย 20 ปี นับแต่วันจัดสรรงบประมาณ และหากมีเจตนาทุจริตด้วยแล้ว หรือไปเข้าในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ใช้กับผู้บริหาร รองผู้บริหารท้องถิ่นด้วยแล้ว ก็ยังเป็นคดีอาญาอีก ซึ่งถ้าเป็นตรงนี้ ป.ป.ช.เขาทำเองนะครับ เว้นแต่เมื่อท่านรู้ว่ามีการฝ่าฝืนในเรื่องดังกล่าวแล้วได้บันทึกโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ ยังงี้ไม่ผิดก็รอดตัวไป
เรื่องนี้อาจจะใหม่สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ถ้าได้ทราบและระมัดระวังไว้ในช่วงพิจารณางบประมาณอย่าไปทำอะไรอันเป็นฝ่าฝืนในลักษณะที่ว่า ก็ไม่ต้องให้ ป.ป.ช.เขามาสอบสวนทางลับหรือท่านต้องไปพบกับ ป.ป.ช.อีกนะครับ พบกันฉบับหน้าครับ