ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ส.ทนายฯ ยกคำวินิจฉัยศาล รธน. กรณี กปปส. เทียบม็อบปลดแอก ยันชอบด้วยกฎหมาย
19 ก.ย. 2563

นายกสมาคมทนายความ ยกหลักคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการชุมนุม กปปส. เทียบม็อบประชาชนปลดเเอก ยันชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก นักเรียน และนักศึกษา ในวันที่ 19 ก.ย. เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย

นายนรินท์พงศ์ ระบุว่า มีผู้กล่าวหาว่า จะเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ นั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่า การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนในอดีต เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐาน คือ กรณี ในปี 2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. ได้ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน

โดยมีการปิดเส้นทางจราจรบนถนนราชดำเนินจากแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการเคลื่อนขบวนปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ รวมทั้งได้ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล โดยประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า จะยึดอำนาจการปกครองให้กลับมาเป็นของประชาชน เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดย นายกิตติ อธินันท์ กรรมการฯ เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การชุมนุมของนายสุเทพฯ กับพวกดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2550) มาตรา 3 และ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง และเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย นั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงเห็นว่า ในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นการต่อต้านเผด็จการ เพื่อเรียกร้องให้ "หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ ยุบสภา" โดยประชาชนจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น

เป็นการชุมนุมและใช้สิทธิเรียกร้องตามเสรีภาพที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว ย่อมต้องได้รับความคุ้มครองทั้งตามหลักกฎหมายสากล รัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นบรรทัดฐาน กรณี กปปส. ไว้ เช่นเดียวกัน

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เคารพการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ เฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคยเรียกร้องทางการเมืองในอดีตทุกกลุ่มโดยเสมอภาค

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...