20 ก.ย. 2563 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 ก.ย.นี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น นับแต่ครั้งที่มีการทำประชามติที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและไม่รับคำถามพ่วงในเรื่องการให้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่เมื่อผ่านการทำประชามติเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงเป็นหลักการสำคัญของพรรค ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ประกาศชัดเป็นคนแรกที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่จะต้องแก้ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ได้ง่ายขึ้น และเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้มีสภาที่มาจากประชาชนมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ เพราะมีหลายมาตราที่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
นายราเมศ กล่าวว่า วันที่ 22 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิสมาชิก ก่อนการพิจารณาในวาระที่ 1 วิปของพรรค คือนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ จะได้เสนอหลักการและแสวงหาแนวร่วมทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายวุฒิสมาชิก เพื่อให้มีการแก้ไขตามร่างที่ได้ยื่นต่อรัฐสภาให้เป็นผลสำเร็จต่อไป
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาและโฆษกวิปวุฒิสภา เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เป็นห่วงเรื่องระยะเวลาในการพิจารณา เพราะต้องปิดประชุมภายในไม่เกิน 24.00 น.ของวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งหากมีการพิจารณาทั้ง 6 ร่าง (ร่างแก้ไข ม.256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร.ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน กับอีก 4 ร่างที่ฝ่ายค้านยื่นเพิ่มเติม เรื่องอำนาจของ ส.ว.และการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) ยังต้องเผื่อเวลาในการลงมติที่ต้องใช้วิธีขานชื่อทีละคน (สมาชิก 2 สภารวมกัน 737 คน)
"จะต้องลงมติทีละร่างอย่างเคร่งครัด โดยเรียกชื่อสมาชิกทีละคน แล้วให้สมาชิกคนนั้นลุกขึ้นกล่าววาจาว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเฉพาะร่างนั้นจนจบไป แล้วต่อด้วยการลงมติร่างต่อไป โดยกลับไปเริ่มกระบวนการเดิมให้จบไปทีละร่างๆ เท่านั้น ก็ต้องใช้เวลาร่างละประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้า 2 ร่าง ก็ 6 ชั่วโมง ถ้า 6 ร่าง ก็ 18 ชั่วโมง หรือจะประยุกต์วิธีการลงมติให้กระชับขึ้น โดยเรียกชื่อสมาชิกทีละคนแล้วให้สมาชิกคนนั้นลุกขึ้นกล่าววาจาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไล่ทีละร่างจนครบทุกร่างในการเรียกชื่อคราวเดียว วิธีหลังที่จะทำให้ประหยัดเวลาไปได้มากนี้ทำได้หรือไม่ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่ ก็น่าจะต้องถกกันอีกยกใหญ่ เปลืองเวลาเข้าไปอีก"
นายคำนูณ เผยด้วยว่า อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ลงมติไม่ทันในบางร่างจาก 6 ร่าง หรืออาจจะไม่ทันทุกร่าง หรืออาจจะต้องใช้วิธีที่ยังไม่มีการลงมติเลยสักร่าง คือสมาชิกเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณาก่อนรับหลักการ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 121 วรรคสาม