รมช.แรงงาน พบปะข้าราชการในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ย้ำ ทุกคนต้องร่วมกันช่วยขับเคลื่อนภารกิจหน่วยงาน ยกระดับสู่กระทรวงเศรษฐกิจ
21 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการสัมมนา และมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารและข้าราชการในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 400 คน ณ โรงแรม รอยัล ฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครนายก
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกับข้าราชการในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อรับฟังนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานของประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี มุ่งที่จะให้ประเทศเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผลผลิตของสถาบันการศึกษายังไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงเป็นข้อต่อสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ที่จะทำหน้าที่ในการฝึกทักษะของนักศึกษาหรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและภาคเอกชนเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเป็นอย่างดี จึงต้องการให้กระทรวงแรงงานยกระดับสู่กระทรวงด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้ใช้แรงงานในระบบส่วนใหญ่ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก กพร. จึงมีหน้าที่พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กลุ่มแรงงานในระบบให้มีทักษะที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับต่อการประกอบอาชีพอิสระ
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานสู่กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการหางานให้ทำ การดูแลสวัสดิการ หรือการดูแลผู้ประกันตนเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการ สร้าง ยก ให้ โดยเฉพาะการสร้างแรงงานคุณภาพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสอดรับกับจุดแข็งของ กพร. ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือช่าง ทักษะที่ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน S-Curve ซึ่งเป็น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในเขตพื้นที่เหล่านี้มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะพิเศษเช่นเดียวกัน
“การทุ่มเทความรู้ ความสามารถ กำลังกาย-ใจของทุกท่าน จะช่วยผลักดันนโยบายและหลักการทำงานดังที่กล่าวมา ให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล “มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ขอเป็นกำลังใจแก่ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน และขอให้การจัดสัมมนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท นโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงาน สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด