นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบโครงการจัดหารถกู้ภัยขนาดเล็ก (รถดับเพลิง) กทม. 20 คันงบประมาณ 160 ล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่า มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) การจัดซื้ออาจมีราคาสูงเกินจริง ประมาณคันละ 2.5 ล้านบาท แต่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า รถกู้ภัยที่จัดซื้อเป็นรถวิบากไม่เหมาะจะใช้เป็นรถกู้ภัย ขณะเครื่องดับเพลิงแรงดันสูง เครื่องละ 4.1 ล้านบาท แต่ฉีดน้ำต่อเนื่องนาน 5 นาที ในระยะทาง 10 เมตร
อย่างไรก็ตาม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เคยทำหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ทบทวนโครงการเนื่องจากตรวจสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นพบว่า การจัดหารถดับเพลิงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้กับสถานที่เกิดเหตุเข้าถึงไม่สะดวก เช่น ตรอกซอยขนาดเล็ก ที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่ผลทดสอบใช้งานที่ชุมชมวัดเทพากร 14 แห่ง ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดหา จำนวน 13 แห่ง ใช้งานได้จริงเพียง 1 แห่ง และผลการทดสอบยังใช้เวลาเกินกว่ามาตรฐานกำหนดด้วย
ทั้งนี้หากกทม. ยังใช้งานอาจไม่สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จะก่อให้เกิดความเสียหายกับงบประมาณแผ่นดินไม่ตรงความต้องการประชาชน ซึ่งเครื่องดับเพลิงแบบหาบหามแรงดันสูงต่อเชื่อมกับหัวจ่ายน้ำดับเพลิงของการประปานครหลวงที่ กทม.ขอติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ตามโครงการชุมชนปลอดภัย และอาจเพิ่มหัวจ่ายน้ำดับเพลิงในชุมชนในซอยที่มีหนาแน่น รถเข้าไม่ถึง ประกอบกับถังเคมีดับเพลิงมีในทุกชุมชนอยู่แล้วน่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า
หนังสือยังระบุอีกว่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายทางราชการ และรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง จึงขอให้ กทม. ทบทวนจัดหารถกู้ภัยขนาดเล็กระยะที่ 1ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงความต้องการประชาชน ประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง และให้แจ้งผลการดำเนินการให้สตง.ทราบเพื่อประกอบการตรวจสอบว่าด้วยพ.ร.บ.สตง.