นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในสิ่งแวดล้อมมีเชื้อราลอยอยู่ในอากาศทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดก่อให้เกิดโรคและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เชื้อราบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคได้ถ้าร่างกายอ่อนแอ อย่างไรก็ตามคนที่มีภูมิต้านทานปกติระบบร่างกายจะมีกลไกภูมิคุ้มกัน เช่น ระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเข้าไปจะมีขนจมูกช่วยกรองจึงสามารถลดเชื้อต่าง ๆ ได้แต่ในคนที่มีอาการภูมิแพ้อาจจะมีอาการน้ำมูกไหล หายใจไม่ออก น้ำตาไหล หอบหืด มีผื่นผิวหนังอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมสปอร์ของเชื้อราโดยใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก ส่วนมากเชื้อราเหล่านี้จะก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ทั้งทางระบบหายใจและผิวหนัง ซึ่งจะเกิดเฉพาะคนที่แพ้เท่านั้นไม่เกิดกับคนทั่วไป จึงไม่ควรกังวลเกินไป
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสํารวจเชื้อราหลังน้ำท่วมอาจทําได้ 2 วิธีคือ วิธีดูด้วยตา เช่น พบเห็นผนังมีรอยเปื้อน หรือมีลักษณะเชื้อราขึ้น และวิธีดมกลิ่น กลิ่นเชื้อราเป็นกลิ่นเหม็นอับทึบ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีเชื้อรา ควรให้ใช้หลักว่าสิ่งของใดที่ไม่สามารถกําจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้ง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุนซึ่งไม่สามารถชะล้างและทําให้แห้งได้จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา นอกจากนี้เชื้อราที่ตายแล้วอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้ หากเป็นผ้าต้องฆ่าเชื้อด้วยการต้มด้วยน้ำร้อนก่อนจึงจะนํามาใช้อีก รีบทําความสะอาดพื้นและผนังโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุดภายใน 24 - 48 ชั่วโมงหลังน้ำลด ระหว่างทําความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว เริ่มแรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วตามด้วยการขัดล้างด้วยน้ำยา ถ้าเป็นการขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบควรขัดด้วยแปรงชนิดแข็ง โดยใช้ผงฟอกขาวในปริมาณ 1 ถ้วยตวง ผสมกับ น้ำ 1 แกลลอน ซึ่งผู้ทําความสะอาดต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายได้แก่ รองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยางสําหรับทํางานบ้าน แว่นป้องกันตา หน้ากากอนามัย เมื่อขัดล้างเสร็จแล้ว
ควรทิ้งไว้ให้แห้ง หรืออาจใช้ไฟสปอร์ตไลท์ส่องเพื่อช่วยให้แห้งเร็วขึ้น นอกจากนี้หากพบว่ามีเชื้อราฝังแน่นตามผนัง ไม่สามารถขัดล้างออกได้ ควรเปลี่ยนใหม่ไม่ควรทาสีทับ และหากเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรล้างทําความสะอาดเครื่องปรับอากาศไปพร้อมกัน