ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ขุมพลังงานแห่งการขับเคลื่อนรถไฟชานเมืองสายสีแดง การเดินทางเส้นใหม่ใจกลางมหานคร
25 ก.ย. 2563

การแก้ไขปัญหารถติดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือเป็นความท้าทายของทุกหน่วยภาครัฐ หนึ่งในแนวทางการบรรเทาปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยเฉพาะโครงการระบบรถไฟชานเมือง ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการเดินทางของประชาชนระหว่างย่านใจกลางเมืองและชานเมือง ให้มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และตรงต่อเวลา ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งขยายความเจริญไปยังย่านชานเมือง ช่วยลดความแออัดทางการจราจรของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี

          สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะกลายเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เส้นทางบางซื่อ-รังสิต ถือเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ซึ่งได้รับการอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการให้โครงการฯ สำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ สายสีแดงเข้ม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย) สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) และแอร์พอต เรล ลิงค์ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) ซึ่งมีระบบการขับเคลื่อนรถไฟด้วยระบบไฟฟ้ากำลัง จึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงประสานความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)เพื่อร่วมกันจัดหาพลังงานไฟฟ้าส่งจ่ายให้โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อได้อย่างมั่นคงเพียงพอ

สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่ใจกลางมหานคร
          กฟผ. ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร (สฟ.จตุจักร) ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบใช้ฉนวนก๊าซ (Gas Insulated Substation: GIS )ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (KV) ภายใต้การดำเนินงานของโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ก่อสร้างภายในที่ดินเช่าแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายของ รฟท. พื้นที่รวม 8.62 ไร่ โดยรับไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230 KVลาดพร้าว – พระนครเหนือ 1 วงจร และ 230 KVลาดพร้าว – แจ้งวัฒนะ 1 วงจร โดยทั้ง 2 วงจร จะตัดและเชื่อมต่อกันที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักรแห่งใหม่นี้ สามารถส่งไฟฟ้าให้แก่สถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟน. เพื่อทำการปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าลง เพื่อส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ รฟท. สำหรับรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงเชื่อถือได้ให้แก่ระบบกำลังไฟฟ้าในเขตจตุจักรและพื้นที่ใกล้เคียง และรองรับชุมชนที่จะขยายเพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าอีกด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบให้แก่ กฟน. ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ สฟ.จตุจักร จะกลายเป็นสถานีส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าแหล่งใหญ่ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเดินทางของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทั้งสามสาย และหล่อเลี้ยงไฟฟ้าให้แก่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในภาพรวมต่อไปในอนาคต

          การเดินทางโดยขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบายของประชาชน เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องร่วมมือกันพัฒนาและอำนวยความสะดวกให้การเดินทางในทุก เส้นทางมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการขนส่งมวลชนทางรางที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของประเทศ รวมทั้งบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี รถไฟชานเมืองสายสีแดง จะกลายเป็นเส้นทางการเดินทางหลักย่านใจกลางเมืองสู่ชานเมืองสายสำคัญ ซึ่ง รฟท. ร่วมกับ กฟน. และ กฟผ. มุ่งมั่นจัดหาขุมพลังงานที่มีความมั่นคงปลอดภัย เชื่อถือได้ และทันสมัยส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ให้มีความมั่นคง เพียงพอตลอดเวลา เพื่อขับเคลื่อนความสุขของคนไทย ทำให้ทุกวันแห่งการเดินทางมีแต่รอยยิ้มที่เกิดจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป ... กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย

3 ความพิเศษของ สฟ.จตุจักรแห่งใหม่

  • ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี Digital substation(IEC61850)

          - สถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ใช้เทคโนโลยี Digital substation(IEC61850) เป็นแห่งแรก
          - Umman substation ทันสมัยด้วยการควบคุมการทำงานด้วยระบบดิจิทัลและระบบสื่อสารไฟเบอร์ออฟติก (Fiber Optic) ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบใน สฟ. จตุจักร แม้แต่คนเดียว
          - หากมีเหตุขัดข้องจะมีเจ้าหน้าที่พร้อมเข้าไปแก้ไขได้ทันที

  • เชื่อถือได้ ด้วยเสาส่งไฟฟ้าที่ออกแบบพิเศษหนึ่งเดียวในไทย

          - ออกแบบและติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงแบบพิเศษที่มีเพียงต้นเดียวในประเทศไทย เพื่อรองรับการใช้งานในพื้นที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          - เพื่อควบคุมความสูงของเสาไม่ให้ส่งกระทบต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าเดิม

  • มั่นคงปลอดภัย ด้วยการติดตั้งแนวแผ่นแบริเออร์ป้องกันความเสี่ยงเหตุวินาศภัย

 

          - ออกแบบและติดตั้งแนวแผ่นแบริเออร์ (barrier)ตลอดแนวโค้งของสะพานต่างระดับ 

          - เพื่อลดและป้องกันมลภาวะทางเสียง อุบัติเหตุ และการก่อวินาศภัย ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...