จากอิทธิพลของพายุโซร้อน “โนอึล” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงวันที่ 18-21 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกกระจายในพื้นที่อีสานกลางทั้ง 5 จังหวัด (ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธิ์, ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ) ถึงแม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ประมาณร้อยละ 50 แต่ยังคงส่งผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำไหลเข้าสะสมจนอยู่ในเกณฑ์มากกว่าปริมาณน้ำก้นอ่างที่เคยติดลบ
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “โนอึล” ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ภาคอีสานกลางเพิ่มมากขึ้น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีน้ำไหลเข้าสะสม ดังนี้ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 34 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ 40 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 127 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมรวมกันประมาณ 77 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางประมาณ 280 ล้าน ลบ.ม. ตามที่สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้คาดการณ์ไว้ว่าพายุโซนร้อน โนอึล จะส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC 6)คาดการณ์ไว้ว่าพายุ “โนอึล” จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 100-150 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมตั้งแต่วันที่ 18-27 ก.ย. 63 รวมประมาณ 127 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในเกณฑ์มากกว่าปริมาณน้ำก้นอ่างที่เคยติดลบอยู่ก่อนหน้านี้ประมาณ 107 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้การได้ประมาณ 21.55 ล้าน ลบ.ม. และยังจะมีปริมาณน้ำที่จะไหลมาเติมเขื่อนอุบลรัตน์อีก ซึ่งจะส่งผลให้น้ำใช้การของเขื่อนอุบลรัตน์มากเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้บริหารจัดการน้ำตามนโยบายของกรมชลประทาน โดยใช้อาคารชลประทานเพื่อกักเก็บและระบายน้ำผันเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด ขอให้ทุกภาคส่วนยังคงตระหนักและรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน